การพัฒนาที่ยังมองไม่เห็นว่าจะยั่งยืน บทความพิเศษจากกรุงเทพธุรกิจ

การพัฒนาที่ยังมองไม่เห็นว่าจะยั่งยืน บทความพิเศษจากกรุงเทพธุรกิจ
โดย อ. ดร.ดาว สุวรรณแสง จั่นเจริญ และ ศ. ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643229

เมื่อพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากเราคิดแบบฝรั่งก็มักคิดถึงอะไรที่ถาวร เพราะหากเป็นอื่นก็ย่อมไม่ยั่งยืน

แต่หากเรามองความยั่งยืนถาวรนี้ในมุมมองของไตรลักษณ์ก็ย่อมเห็นได้เองว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะสรรพสิ่งเป็นอนิจจังที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าใครยึดติดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าถาวรก็จะเป็นทุกข์ เพราะต้องแบกภาระที่จะทำให้สิ่งนั้นถาวรตลอดไปนั้นอย่างไม่สิ้นสุด

นั่นเป็นมุมมองทางธรรมที่ถูกต้องเสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่วันนี้เราจะมามองประเด็นนี้แบบฆราวาสหรือปุถุชนธรรมดามองว่า เป็นไปได้หรือไม่ และจะเป็นจริงตามที่ SDGs หรือ Sustainable Development Goals กำหนดไว้ (โดยฝรั่ง) หรือไม่ โดยจะมองในมุมของวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์รวมถึงเศรษฐศาสตร์

Sustainable Development หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนมีฐานความคิดของ “ความตั้งอยู่ได้” ในอนาคตของโลก ต้องมีการพัฒนาแบบเก้าอี้ 3 ขา หรือ TBL (Triple Bottom Lines) กล่าวคือต้องมีการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกันและได้ดุลยภาพระหว่างกันและกัน

สำหรับเก้าอี้ 3 ขานี้หาก 3 ขายาวเท่ากันและมีแรงกดลงบน 3 ขาเท่าๆกัน เก้าอี้นี้ก็จะได้ดุลและตั้งอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ถ้าหากมีขาใดขาหนึ่งสั้นกว่าอีก 2 ขา เก้าอี้ตัวนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ หรือพร้อมที่จะล้มลงทันที หากความสั้นยาวของขาเก้าอี้นั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ในปัจจุบัน 3 ขาที่ว่านี้เท่ากันไหม เราคงตอบได้โดยสามัญสำนึกของแต่ละคนว่าไม่เท่าแน่ โดยในอดีต 3 ขานี้อาจต่างกันเพียงเล็กน้อย เก้าอี้ตัวนี้จึงพอตั้งอยู่ได้แม้จะโคลงเคลงอยู่บ้าง

แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีทีผ่านมาขาเศรษฐกิจได้ยาวขึ้น ๆ โดยอีก 2 ข้างไม่ได้ยาวเพิ่มตามไปด้วย ความโคลงเคลงที่ว่าจึงเพิ่มระดับความรุนแรงจนนานาประเทศต้องหันมาหามาตรการแก้ไขและกำหนดเกณฑ์ SDGs ขึ้นไว้ให้นานาอารยะประเทศนำไปถือปฏิบัติ ก่อนที่จะเกิดสภาพเก้าอี้ไร้ดุลและคนนั่งเก้าอี้ต้องหกคะเมนลงมา

ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมามลพิษในเมืองเพิ่มมากขึ้นทั่วทุกมุมโลก จึงได้มีความพยายามลดปัญหานี้

ส่วนหนึ่งของมาตรการ คือ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) ในการเดินทางทั้งในเมืองและเชื่อมต่อเมือง มองในเชิงเศรษฐศาสตร์นักธุรกิจเริ่มเล็งเห็นโอกาสทำกำไร และเมื่อการณ์เป็นเช่นนั้นงานวิทยาศาสตร์ก็เข้ามาตอบรับและตอบสนอง โดยคิดค้นเทคโนโลยีทางวิศวกรรมเครื่องกลและไฟฟ้าให้สามารถผลิตยานพาหนะรวมทั้งแบตเตอรี่ออกมาในราคาที่แข่งขันได้ ขายได้ ซื้อได้ กำไรได้ ออกสู่ตลาด

ณ จุดนี้ เก้าอี้ 3 ขาเริ่มมีขาที่ยาวสั้นไม่เท่ากันเพิ่มขึ้นไปอีก เก้าอี้ตัวนี้จึงใกล้จะล้มเต็มประดา และด้วยตรรกะ และกระบวนทัศน์เช่นว่านี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมทั้ง SDGs ของโลกก็จะเป็นเรื่องเหลวไหลและเป็นไปไม่ได้

ในการใช้ EV นี้ทุกคนเชื่อว่าจะช่วยโลกให้รอดในระยะยาวได้โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแม้กระทั่งขจัดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน คือ เราจะเห็นแต่การแข่งขันของบริษัท ในการที่จะเพิ่มสมรรถนะด้านความเร็วและอัตราการเร่งความเร็วของรถยนต์ไฟฟ้านั้นๆ เช่น บริษัทเบนซ์กำลังบอกกับสาธารณะว่าพวกเขาสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีอัตราการเร่งจาก 0 เป็น 97 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายในเวลาเพียง 4 วินาที

ส่วนบริษัทยักษ์อีกบริษัทหนึ่งคือ Porsche ก็ไม่ยอมน้อยหน้าและโฆษณาว่ารถของตัวเองก็สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีอัตราเร่งจาก 0 เป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายในเวลาเพียง 3.5 วินาที ทั้งที่การใช้รถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถไฟฟ้าในชีวิตจริง เราต้องการแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของสมรรถนะที่พวกเขาพยายามทำออกมาเพื่อเป็นจุดขายและขายจริง

นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าหลายคนมักลืมไปว่ายานพาหนะไฟฟ้าหรือ EV ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ รถไฟ รถจักรยาน หรือแม้กระทั่งเครื่องบิน ล้วนต้องอัดประจุซึ่งต้องใช้ไฟฟ้า และเมื่อต้องใช้ไฟฟ้าก็ต้องมีการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งเมื่อต้องผลิตไฟฟ้าก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการใช้และทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดและนับวันจะหมดไป

ตรรกะของการพัฒนาที่สามขาไม่เท่ากันแบบนี้จึงไม่ใช่ตรรกะทางวิศวกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างที่ควรเป็น

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ หากมองในมุมของพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลับปรากฏว่าสังคมไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ดังที่ว่านั้น แถมยังมีบางคนบางกลุ่มนิยมชมชอบกับรูปแบบของ EV ในลักษณะนั้น ทั้งที่จริงๆแล้วยานพาหนะเป็นเพียงสิ่งที่พาเราจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วยความสะดวกสบายพอประมาณ การที่จะเร่งอัตราเร็วได้ดั่งใจหรือไปให้ได้เร็วที่สุดให้ทันใจนั้นไม่ใช่ความจำเป็นและไม่ใช่วิสัยหรือกระบวนการทัศน์ของการพัฒนาที่ ยั่งยืน เสียด้วยซ้ำ

หากจะยกตัวอย่างอีกสักตัวอย่างมาสนับสนุนการวิเคราะห์วิจารณ์สังคมว่ากำลังสับสนในเรื่อง SD นี้ก็น่าจะได้

ตัวอย่างที่ว่าคือการที่นักสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะนักเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ได้พยายามผลักดันในระดับโลก ให้แต่ละประเทศช่วยกันเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการบริการ ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง แต่เมื่อนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินรวมถึงนักลงทุนมาสนใจจับประเด็นนี้ ก็กลับนำสิ่งนี้ไปพัฒนาเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต อันทำให้จุดประสงค์เดิมที่ต้องการลดปัญหาโลกร้อนได้กลายพันธุ์ไป กลายเป็นธุรกิจการซื้อขายคาร์บอน

ในที่สุดเมื่อการซื้อขายนี้ไม่ทำกำไรมากพออย่างที่ได้วางแผนไว้แต่แรก มาตรการทางเทคนิคและสิ่งแวดล้อมที่ควรได้รับการพิจารณานำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อลดปัญหาโลกร้อนก็ขาดความสนใจ การลดคาร์บอนจากภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ฯลฯ ก็แทบจะไม่มีใครพูดถึงกันอีกต่อไป

สองตัวอย่างนี้บอกอะไรแก่เรา

มันบอกได้ชัดเจนว่าสามขาที่เขย่งกันอยู่ของเก้าอี้ตัวนี้ ยังไม่ได้รับการปรับแก้ และทำให้ยาวเท่ากันอย่างเป็นจริงเป็นจังอย่างที่หลายฝ่ายตั้งเป้าประสงค์ และปรารถนาอยากได้อย่างเป็นรูปธรรม

ฉะนั้นถ้าเรายังเดินหน้าต่อไปในอนาคตด้วยวิธีคิดและกระบวนทัศน์ที่เน้นเฉพาะด้านกำไรเป็นเม็ดงินผิด ๆ แบบนี้ SDGs ก็จะเป็นเพียงความฝันที่เลื่อนลอย และไม่มีวันเป็นจริง

เมื่อถึงวันนั้น วันที่เก้าอี้ล้ม ใครจะลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อการล่มสลายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลูกหลานของเรา
ช่วยกันคิดหน่อยสิ

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวทางวิชาการของผู้เขียน โดยไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่สังกัด
โดย… ดร.ดาว สุวรรณแสง จั่นเจริญ
ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย