วิศวฯ จุฬาฯ จับมือ CAT บุกเบิก บูรณาการองค์ความรู้ ผ่านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมทุกรูปแบบ หวังพัฒนาบัณฑิตให้เต็มศักยภาพ

วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาระบบโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายชัยยุทธ สันทนานุการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) เป็นผู้แทนลงนาม ณ ห้องประชุม i-Think ตึก3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาระบบโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร สืบเนื่องจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนที่จะดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (IOT City Innovation Center) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์นวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี IOT หรือ Internet of Things เพื่อใช้ในการศึกษา รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารในระดับที่สูงขึ้น โดย CAT ได้ร่วมสนับสนุนระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงร่วมแลกเปลี่ยนวิทยาการด้านเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพที่สามารถรองรับการใช้งานเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “สำหรับการลงนามร่วมกับ กสท ในครั้งนี้ จะเน้นด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี IOT โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระบบเครือข่าย LORA และอุปกรณ์ที่รองรับ ซึ่งจะทำให้นิสิตและคณาจารย์ได้สร้างสรรค์โครงการที่เกี่ยวข้องกับ IOT เพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจดิจิทัล (Digital Economy) นอกจากนี้ วิศวฯ จุฬาฯ และ กสท ยังตกลงร่วมกันพัฒนาโครงการที่รองรับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งเรื่องความปลอดภัยและสังคมผู้สูงอายุ ด้วยเทคโนโลยี IOT อาทิ ระบบติดตามตัวผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ในกรณีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ระบบติดตามตัวผู้สูงอายุ รวมถึงติดตามตัวเด็ก ในกรณีเด็กพลัดหลงหรือเด็กหาย เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเป็นเมืองอัจฉริยะ ยังตั้งใจจะพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต”

นายชัยยุทธ สันทนานุการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) กล่าวว่า CAT ได้เตรียมให้การสนับสนุนระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ ระบบ LPWAN, Cloud Computing, เครือข่ายอินเทอร์เน็ต, บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ my ตลอดจนบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับได้เตรียมจัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้เต็มประสิทธิภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อรองรับการศึกษาที่ล้ำสมัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ผมมุ่งหวังว่าความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศน์นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยยกระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยให้เกิดภายใต้ศักยภาพที่สูงขึ้น ตลอดจนเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตต่อไป”