คณะวิศวฯ จุฬาฯ และ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับเทศบาลนครแหลมฉบัง พัฒนาระบบบริหารจัดการและบำบัดน้ำเสีย

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเทศบาลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ประกาศลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ และบุคลากรทางด้านการบริหารจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง โดยมี รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง ร่วมลงนามฯ

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลาสามปี  และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ริเริ่มขึ้นภายใต้ชื่อ Clean Water for Planet โดยดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารจัดการ และบำบัดน้ำเสียให้แก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมของเทศบาลนครแหลมฉบัง

บันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ลงนามความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะให้กับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำหรับนำไปต่อยอดสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ และบำบัดน้ำเสีย

ในด้านการดำเนินงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อถ่ายทอดความรู้ ส่วนดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จะอำนวยความสะดวกด้านสถานที่โดยเปิดให้ผู้เข้าอบรมสามารถเข้ามาศึกษาดูงานภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ของบริษัทฯ  โครงการความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และส่งเสริมการฝึกปฏิบัติในสถานที่จริงให้สัมฤทธิผล โดยใช้หลักสูตรฝึกอบรมที่ออกแบบมาให้เหมาะกับเทศบาลที่เข้าใจได้ง่าย และปฏิบัติได้โดยไม่มีความซับซ้อน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง โดยโครงการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน  ด้วยมุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองในด้านการจัดการน้ำที่ประสบความสำเร็จให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ

นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ และถ่ายทอดประสบการณ์ของเราไปสู่เทศบาลนครแหลมฉบัง หนึ่งในเทศบาลนครที่เป็นที่รู้จักกันดี ที่มีทั้งท่าเรือเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และเป็นเมืองอุตสาหกรรมหลักแห่งหนึ่งของไทย”

“บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาโครงการะเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป รู้สึกภาคภูมิใจที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) จะได้เป็นศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้จากสถานที่จริงให้กับพันธมิตรทั้งสองฝ่าย  ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังภูมิใจที่ได้สร้างมาตรฐานทางเทคนิค และแนวปฏิบัติด้านการบริหารจัดการและบำบัดน้ำเสียที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้บริษัทฯ ได้น้อมนำแนวทางดังกล่าวมาจากโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา” นายวิวัฒน์ กล่าวอธิบาย

รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นและเทศบาลนครแหลมฉบัง นับเป็นโอกาสอันดีที่คณาจารย์และนิสิตของเราจะได้แบ่งปันเทคนิคและแนวปฏิบัติที่ได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริงในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา   โดยภายใต้โครงการกิจกรรมเพื่อสังคม Clean Water for Planet ของดับบลิวเอเช คอร์ปอเรชั่น ทางคณะฯ ได้ส่งนิสิตภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ไปศึกษาดูงานในนิคมอุตสาหกรรมของเหมราช และการขยายโครงการไปสู่เทศบาลนครแหลมฉบังจึงเปิดโอกาสให้เราได้ติดตามผลจากการนำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้และประโยชน์ที่ได้รับจากประสบการณ์ตรง ในเรื่องของการบริการจัดการน้ำเสีย ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อสังคมของเรา”

นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง เปิดเผยว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยประสบการณ์ของทั้งสององค์กรและความมุ่งมั่นของเทศบาล เราหวังว่าเมืองแหลมฉบังจะพัฒนาไปสู่การเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองในด้านการบริหารจัดการและบำบัดน้ำเสียแบบยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป และไม่ใช่แค่เพียงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียเท่านั้น แต่เรายังมั่นใจด้วยว่าจะสามารถควบคุมต้นทุนการบำบัดน้ำเสียให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และพัฒนาระบบการบำบัดน้ำเสียของเราให้ทันสมัยพร้อมรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งในด้านการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมต่อไป”