เด็กไทยคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์เจนีวา

เด็กไทยคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์เจนีวา

เมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็ก ๆ ตัวน้อยกลุ่มหนึ่งจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ได้นำแนวคิดและสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองเพื่อสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับนักเรียน โดยนักเรียนไม่จำเป็นต้องใช้สมาร์ตโฟน ไปเข้าร่วมงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ International Exhibition of Inventions – Geneva ครั้งที่ 45 ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับรางวัลเหรียญทองแดงกลับมา

จากแนวคิดซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ และได้รับการปรับปรุงแนวคิด โดยอาจารย์จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ เพื่อนำเทคโนโลยีบีคอนร่วมกับราสเบอร์รีพาย (เป็นเครื่องมือแผงวงจรชนิดหนึ่งนะครับ ไม่ใช่ขนมแสนอร่อย) มาใช้เพื่อระบุตำแหน่งของนักเรียนในโรงเรียน โดยผ่านการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางด้านการเขียนโปรแกรมและอุปกรณ์จากพี่ ๆ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สองคน คือ พีรสิชฌ์ เจริญจิตเสรีวงศ์ และ พงศธร เกิดผล ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนจากโครงการ IDS (Idea Driven Society) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในระยะการทำงานกว่าสามเดือนที่ผ่านมาของน้องประถมสาธิตจุฬาฯ กับพี่ ๆ วิศวฯ จุฬาฯ​ ได้กลั่นกรอง และสร้างเป็นโครงการต้นแบบ เพื่อใช้อุปกรณ์บีคอนส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ราสเบอร์รีพาย เพื่อกำหนดเป็นโซนพื้นที่สองประเภท คือ พื้นทีเฝ้ารอ และพื้นที่พบผู้ปกครอง โดยหลังเลิกเรียน เด็ก ๆ จะไปยังพื้นที่เฝ้ารอ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เล่นกับเพื่อน ๆ จากนั้น พอได้เวลาที่นัดแนะกับผู้ปกครองไว้ เด็ก ๆ จะเดินย้ายไปยังพื้นที่พบผู้ปกครอง ซึ่งการเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่โซนต่าง ๆ ในโรงเรียน จะถูกบันทึกผ่านเครื่องราสเบอร์รีพาย และส่งข้อมูลไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งผู้ปกครองจะสามารถรับรู้ตำแหน่งของเด็ก ๆ ผ่านเครื่องสมาร์ตโฟนที่ลงแอปพลิเคชันไว้ เมื่อเด็ก ๆ เข้าสู่บริเวณพบผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็จะสามารถมารับเด็ก ๆ ได้ ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ปกครองพบเด็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถรู้ตำแหน่งของเด็ก ๆ ในโรงเรียนได้

ไม่ใช่เพียงแต่การประยุกต์ใช้ในลักษณะนี้เท่านั้น งานนี้ยังสามารถนำไปใช้ในรูปแบบอื่น ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบตำแหน่งของเด็ก ๆ ว่าอยู่ในพื้นที่อันตรายหรือไม่ อย่างเช่น อยู่ในบริเวณลานจอดรถในเวลาที่ไม่ควรอยู่ อาจหมายถึงกรณีลืมเด็กไว้ในรถ หรือการเข้าใกล้พื้นที่บึงน้ำ หรือสระน้ำในเวลาที่ไม่มีผู้ใหญ่อยู่ ก็จะสามารถเปลี่ยนให้งานนี้ กลายเป็นระบบป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้งานจริงได้อย่างหลากหลาย

ผลจากการไปร่วมนำเสนองานในครั้งนี้ ทำให้มีผู้สนใจอยากให้พัฒนาต่อยอดเพื่อไปใช้กับปัญหาในที่ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันของโลก ทั้งนำไปใช้ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย หรือนำไปใช้ติดตามผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในประเทศเราเอง

โครงการเล็ก ๆ โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจอย่างดี ให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ เติบโตขึ้นพร้อมกับแนวคิดของการสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาจริง ๆ ที่เห็นอยู่ตรงหน้า ด้วยความเท่าทันเทคโนโลยีในปัจจุบัน และกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย…ต่อไป

สุกรี สินธุภิญโญ (sukree.s@chula.ac.th) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย