ในกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงเรียนมหาดเล็ก ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ใกล้ประตูพิมานไชยศรี ตรงข้ามกับศาลาหทัยในปัจจุบัน พระราชประสงค์ก็เพื่อจะให้เป็นที่ฝึกหัด ข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระองค์ ตามพระประสงค์ของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น (คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ที่ใคร่จะได้เจ้าบ้านผ่านเมือง จากข้าราชการชั้นมหาดเล็กรายงาน
เมื่อถึงสมัยต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียน “มหาดเล็ก” โดยเติมคำว่า “หลวง” ต่อท้ายอีกคำหนึ่ง ณ ตำบลดุสิต (คือโรงเรียนวชิราวุธในปัจจุบัน) ทั้งนี้แทนการสร้างวัดตามขัตติยราชประเพณี ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กเดิมนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระชนกนาถเพื่อเป็นกตัญญูกตเวทีธรรมสืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วางแผนการจัดสร้างโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นการใหญ่ โดยมีกรรมการจัดการโดยตรงไม่ขึ้นแก่กระทรวงใดๆ อันนับว่าเป็นรากเหง้าของมหาวิทยาลัยตั้งแต่นั้นมา คณะกรรมการได้จัดการวางข้อบังคับและระเบียบการให้สมพระราชประสงค์จะให้มีรัฐประศาสนศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ กฎหมาย คุรุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ในสมัยนั้นราชแพทยาลัยและโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ กระทรวงธรรมการเป็นผู้จัดการอยู่ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมก็เป็นผู้จัดการ พอดีเมื่อปลาย พ.ศ.2454 อันเป็นสมัยที่ ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการและเป็นกรรมการ โรงเรียนราชการพลเรือนนี้ ด้วยพระยาศรีวรวงศ์เป็นผู้บัญชาการ กระทรวงเกษตราธิการได้โอนโรงเรียนเกษตรแผนกวิศวกรรมการคลองซึ่งตั้ง อยู่ที่วังใหม่ ปทุมวัน (ต่อมาเรียกว่าหอวัง เป็นตึกแบบปราสาทวินด์เซอร์ ภายหลังได้ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ) มาให้แก่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ครั้งแรกทางการดำริจะจัดตั้งเป็นแผนกเกษตรศาสตร์ขึ้น แต่เนื่องด้วยกระทรวงเกษตรยังไม่มีความประสงค์จะรับผู้สำเร็จในวิชาแผนกนี้เข้ารับราชการ ฉะนั้นจึงได้มอบให้พระอนุยุตยันตรการ (เวลานั้นยังเป็นหลวง) ซึ่งย้ายจากกรมแผนที่ทหารบก มารับราชการในโรงเรียนนี้ดำเนินงานไปพลางก่อน
ถึง พ.ศ. 2455 ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้มาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ท่านได้สอบถามได้ความแน่ชัดว่าทหารบก ทหารเรือ กรมรถไฟ กรมชลประทาน ฯลฯ เป็นต้น ต่างก็ต้องการนักเรียนที่สำเร็จวิชานี้มาก จึงได้ให้จัดการตั้งโรงเรียนช่างกลขึ้นโดยสมบูรณ์ วางหลักสูตรหาอาจารย์มาเพิ่มเติมให้มากที่สุดที่จะมากได้นักเรียนช่างกลชุดแรก ก็คือนักเรียนที่ถ่ายทอดมาจากโรงเรียนเกษตรวิศวกรรมการคลองที่เลิกล้มมานั่นเอง โรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้รับมอบ นักเรียนที่ตกค้างอยู่นี้ประมาณ 30-40 คน พร้อมทั้งสถานที่โรงเรียนเกษตร จัดตั้งเป็นโรงเรียนช่างกลขึ้นและได้เปิดสอนโดยสมบูรณ์ รับสมัครนักเรียนภายนอกเรียกว่า “โรงเรียน ยันตรศึกษาแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2456 เป็นต้นมา นี่คือการก่อเกิดของคณะวิศวกรรมศาสตร์
ครั้งเมื่อได้รับโอนโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ของกระทรวงธรรมการ ณ บ้านสมเด็จ มาเป็นแผนกคุรุศึกษาของโรงเรียนข้าราชการ พลเรือนก็ได้ย้ายไปตั้งรวมกันที่วังใหม่ตำบลสระปทุมนี้ด้วย โรงเรียนจึงได้วางระเบียบเครื่องแต่งกายและสีแถบคอเสื้อของนักเรียนแผนกต่างๆขึ้นคือ ยันตรศึกษาสีเลือดหมู คุรุศาสตร์สีเหลือง แพทยศาสตร์สีเขียว และรัฐประศาสนศาสตร์สีดำ ทางราชการได้มอบให้พระยาวิทยาปรีชามาตย์ (เวลานั้นเป็นพระอนุภาษสิศยานุสาร) ผู้อำนวยการโรงเรียนคุรุศึกษารักษาหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนยันตรศึกษาด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2458
ในสมัยเริ่มต้นนั้นโรงเรียนยันตรศึกษารับนักเรียนเพียงสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 ของกระทรวงธรรมการ โรงเรียนนี้เพิ่งก่อสร้างตัวขึ้นมาก็ย่อมบกพร่องด้วยประการทั้งปวงเช่น โรงเรียนที่เกิดใหม่อื่นๆ เครื่องใช้ในการสอนก็ยังไม่พอสถานที่ก็ยังไม่เหมาะอาจารย์ผู้สอนก็ยังไม่พรักพร้อม ทางโรงเรียนจึงขอความช่วยเหลือจากท่านข้าราชการบางท่านที่มีความรู้ความชำนาญในวิชาวิศวกรรมไปช่วยสอน พระยาปกิตกลศาสตร์ ได้เคยเป็นพี่เลี้ยงของโรงเรียนนี้มาตั้งแต่ต้น เป็นผู้อำนวยความเจริญให้แก่โรงเรียนเป็นอันมาก นอกจากได้รับความช่วยเหลือในส่วนตัวบุคคลแล้วโรงเรียนยังต้องขอความอุปการะจากกระทรวงทบวงกรม ที่มีหน้าที่ต้องใช้นักเรียนแผนกนี้ (เช่น กรมรถไฟและกรมทดน้ำ เป็นต้น) ให้ช่วยรับนักเรียนเข้าฝึกหัดในโรงเรียนของสถานที่นั้นๆเพื่อหาความชำนาญในระหว่างภาคเรียน กับทั้งต้องคอยหาโอกาสให้นักเรียนได้ไปดูกิจการที่เกี่ยวแก่การช่างประเภทนี้ตามโอกาสเพื่อหาความก้าวหน้า จนเกือบจะนับว่านักเรียนไม่ได้มีเวลาหยุดจริงๆ เลย
การเรียนในขั้นแรกนี้กำหนดหลักสูตรให้เรียนในโรงเรียนเพียง 3 ปีสำเร็จแล้ว ต้องออกฝึกหัดการงานในสถานที่ ซึ่งโรงเรียนเห็นชอบด้วยอีก 3 ปี ในระหว่างฝึกหัดได้รับผลประโยชน์ เดือนละ 30 บาท เมื่อได้เข้ารับตำแหน่งงานแล้วได้รับเงินเดือนๆ ละ 80 บาท นี่เป็นระเบียบที่ทางโรงเรียน ได้ทำความตกลงไว้กับสถานที่ต่างๆ ที่นักเรียนออกไปทำงานโดยเหตุที่นักเรียนยังมีจำนวนน้อย เมื่อเรียนสำเร็จแล้วโรงเรียนก็แบ่งส่งไปให้สถานที่ต่างๆ เป็นสถานที่ราชการบ้าง บริษัทบ้าง ตามมีตามเกิด เมื่อนักเรียนมีจำนวนมากขึ้น โรงเรียนก็พยายามหาทางออกให้กว้างขวางออกไป เช่น กรมรถไฟ กรมชลประทาน กรมอากาศยาน บริษัทไฟฟ้า เป็นต้น ทางการได้เล็งเห็นชัดแจ้งแล้วว่าการเรียนวิชาช่างไม่ว่าประเภทใดๆ ต้องอาศัย ความชำนิชำนาญจากการเห็นตัวอย่างจากของจริงและต้องทำด้วยน้ำมือของตนเอง มากๆ (แต่ในสมัยนั้นทางการจึงต้องถือเอาการฝึกหัดในโรงงานของกระทรวงทบวงกรมที่มีการช่างวิศวกรรม เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการเรียน) ด้วยเหตุที่โรงเรียนยังบกพร่องดังกล่าวแล้วทางการจึงต้องถือเอาการฝึกหัดในโรงงานของกระทรวงทบวงกรม ที่มีการช่างวิศวกรรมเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการเรียน โรงเรียนจึงได้วางระเบียบไว้ว่าเมื่อเรียนในโรงเรียนสำเร็จแล้ว จะต้องออกฝึกหัดงาน ไม่น้อยกว่า 3 ปี และเมื่อโรงเรียนได้รับรายงานเป็นที่พอใจแล้ว จึงจะยอมรับว่าการเรียนนั้นจบบริบูรณ์ตามหลักสูตร และยอมออกประกาศนียบัตรให้ได้
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาประดิษฐาน โรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนยันตรศึกษา ก็เปลี่ยนมาเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนี้ ได้จัดหลักสูตรการเรียนให้เขยิบสูงขึ้นตามกาลสมัย รับนักเรียนเฉพาะแต่ที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8 ของกระทรวงธรรมการแล้ว และขยายเวลาออกเป็น 4 ปี ย้ายสถานที่เล่าเรียนจากหอวังไปเรียนที่ตึกใหญ่ ริมสนามม้า (ซึ่งในภายหลังได้กลายเป็น ตึกเรียนของคณะอักษรศาสตร์ จนถึงสมัยปัจจุบัน ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ย้ายไปเรียนที่ตึกใหม่ อันเป็นตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในปัจจุบันนี้เมื่อ พ.ศ. 2478) และได้จัดการหาอุปกรณ์การสอนเพิ่มเติมขึ้นตามความจำเป็นและสร้างโรงงานเครื่องกลึงเครื่องหล่อ เครื่องช่างไม้ เครื่องไฟฟ้า หอวิทยาศาสตร์และอื่นๆ อีกเป็นลำดับเรื่อยมาไม่ต้องส่งนักเรียนออกไปฝึกหัดนอกโรงเรียน เช่นแต่ก่อนอีก
พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ได้รับตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์มาจนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 จึงย้ายไปรับราชการกระทรวงทหารเรือ ทางราชการจึงให้พระยาวิทยาปรีชามาตย์ ซึ่งเวลานั้นเป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์รักษาการณ์แทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์อีกหน้าที่ หนึ่งต่อมาจนถึงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2472 พระยาวิทยาปรีชามาตย์ย้ายไปรับหน้าที่ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการและรักษาการณ์ หน้าที่ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระเจริญวิศวกรรมจึงเข้ารับหน้าที่คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่นั้นมาการเรียนก็ได้จัดให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น แยกออกเป็น แผนกต่างๆ เช่น การช่าง วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า
ต่อมาทางราชการเห็นสมควรและถึงเวลาที่จะจัดให้การเรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ขึ้นถึงชั้นปริญญาจึงได้เตรียมการลงมือแก้ไขเพิ่มเติมอุปกรณ์ การสอน โรงงาน และอาจารย์ให้เหมาะแก่วิทยฐานะ เมื่อ พ.ศ. 2476 อันเป็นเวลาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอีก และได้มีนิสิตวิศวกรรมศาสตร์เข้ารับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตเป็นชุดแรก ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 และในปีนี้เองได้เปิดการศึกษาแผนกวิศวกรรมช่างอากาศขึ้น ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากกองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหมจัดส่งนายทหารฝ่ายเทคนิคช่างอากาศมาช่วยสอนและใช้โรงงานทหารอากาศ ณ บางซื่อ และดอนเมือง เป็นที่ฝึกงาน
ปี พ.ศ. 2481 คณะวิศวกรรมศาสตร์รับสมัครแต่ผู้ที่สำเร็จชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ของกระทรวงธรรมการหรือเทียบเท่า ผู้ที่จะเข้าเรียนจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยเสียก่อน กำหนดการเรียนของมหาวิทยาลัย 4 ปี พ.ศ. 2481 ทางวิทยาลัยได้จัดให้มีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น โรงเรียนนี้มีนักเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์เป็นรุ่นแรก อยู่ด้วยมีจำนวน 99 คน ต่อไปผู้ที่จะเข้าศึกษา ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 ของกระทรวงธรรมการแล้วจะต้องเข้าเรียนวิชาเตรียมวิศวกรรมศาสตร์เสียก่อนสองปี เมื่อสอบได้แล้วจึงจะผ่านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาเป็นนิสิตในคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้โดยแท้จริงต่อไปทั้งนี้หมายความว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 นิสิตวิศวกรรมชั้นปีที่ 1 จะต้องเป็นนักเรียนที่สำเร็จมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสิ้น
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2489 กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดให้จัดการศึกษาชั้น เตรียมอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นตามโรงเรียนของกระทรวงอีกหลายแห่ง ทั้งยังอนุญาตให้โรงเรียนราษฎร์ที่ได้รับการเทียบเท่าวิทยฐานะเท่าโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว เปิดการสอนถึงขั้นเตรียมอุดมศึกษา เพิ่มขึ้นจากมัธยม 6 ถึง 2 ปีด้วยดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เป็นต้นไป คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงรับสมัครผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หรือเทียบเท่าทุกแห่งโดยผู้ที่จะเข้าเรียนจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยเสียก่อน
ในปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภาควิชาต่างๆ รวม 12 ภาควิชา คือภาควิชาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ ภาควิชานิวเคลียร์ เทคโนโลยี ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ นอกจากนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังมีรูปแบบการบริหารงานในรูปแบบศูนย์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ศูนย์ คือศูนย์ระดับภูมิภาคทางวิศวกรรมระบบการผลิต ศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีไฟฟ้ากำลัง ศูนย์ถ่ายทอดอิเล็กโตรเทคโนโลยีกลุ่มประเทศ ยุโรปเหนือศูนย์เทคโนโลยี อนุภาคไทย และโครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศทางวิศวกรรม
ห้องธรรมวิศว์ ชั้น 3 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับนิสิตและบุคลากร คณะวิศวฯ จุฬาฯ ฝึกสมาธิและสติ
ได้รับการสนับสนุนจาก คุณกฤษณ มุทิตานันท์ (วศ.2511) และ คุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช (วศ.2524)
หนังสือ Chula Engineering 2020
รวบรวมเรื่องราว ข้อมูลปัจจุบัน และข้อมูลที่น่าสนใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– หนังสือ Chula Engineering 2020 (pdf)
– เว็บไซต์ https://www.chulaengineering.com/history/
แนะนำคณะวิศวกรรมศาสตร์
แนะนำภาควิชาและหลักสูตร
ความประทับใจของนิสิตที่มีต่อภาควิชาและหลักสูตร
https://youtu.be/1KdY9tC0b7k