FACULTY

ทำเนียบ “ศักดิ์อินทาเนีย” : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรงค์ ปวราจารย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรงค์ ปาวราจารย์ เป็นอาจารย์ผู้อุทิศตนให้กับงานกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมวาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่อาจารย์เป็นทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาชมรม ได้ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมใหม่ในระดับชาติขึ้นเป็นจำนวนมาก และยังเป็นผู้ให้คำแนะนำและส่งเสริมให้นิสิตมีน้ำใจและประพฤติตนอยู่ในรูปแบบตามจริยธรรมที่ดีอยู่เสมอ นับได้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรงค์ ปาวราจารย์ เป็นกำลังสำคัญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในด้านกิจการนิสิต สมควรได้รับการยกย่องเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

ตำแหน่ง   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8
สังกัด        ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
เริ่มปฏิบัติงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อ   19 มีนาคม 2535
ประวัติการศึกษา   

พ.ศ. 2535 วศ.บ. (วิศวกรรมเคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2539 M.S. (Chemical Engineering) Oregon State University, U.S.A.
พ.ศ. 2545 Ph.D. (Chemical Engineering) Oregon State University, U.S.A.

ผลงานด้านการเรียนการสอน
  • วรงค์ ปวราจารย์ และ อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ “หลักเทอร์โมไดนามิกส์วิศวกรรมเคมี” (2552)
  • สื่อการสอนวิชา Chemical Engineering Thermodynamics I, Surface Technology, Engineering Materials II, Materials Characterization และ Molecular Chemistry
ผลงานด้านวิจัย
  • มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติทั้งสิ้น 11 บทความ ทั้งนี้มี 2 บทความที่เคยได้รับการจัดอันดับใน Top 25 Hottest Articles ของ ScienceDirect ในสาขา Materials Science
  • มีผลงานนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ 6 เรื่องและในที่ประชุมวิชาการระดับชาติ 12 เรื่อง
ผลงานด้านกิจการนิสิต

เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมวาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานทั้งในระดับภายในมหาวิทยาลัยและระดับชาติ ดังต่อไปนี้

  • เป็นที่ปรึกษาโครงการค่ายมนุษย์สัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำสำหรับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของนิสิตและส่งเสริมมนุษย์สัมพันธ์ระหว่างนิสิต
  • เป็นที่ปรึกษาโครงการอบรมการพูดของชมรมวาทศิลป์และมนุษย์สัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นทุกปีเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพและทักษะการพูดในที่สาธารณะให้กับนิสิตและบุคคลทั่วไปที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยโครงการนี้ดำเนินการโดยการประสานงานเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางการพูดหลายท่านเพื่อมาให้ความรู้ดังกล่าว
  • เป็นที่ปรึกษาโครงการโต้วาทีน้องใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างคณะที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างคณะ และเป็นกิจกรรมสำหรับนิสิตใหม่ที่ส่งเสริมให้นิสิตกล้าแสดงออก รู้จักการคิดหักล้างด้วยเหตุผล และพัฒนาวาทศิลป์ นอกจากนั้น กิจกรรมนี้ยังเป็นเวทีขั้นต้นในการคัดเลือกตัวแทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อไปแข่งขันโต้วาทีระดับมหาวิทยาลัยต่อไป
  • ร่วมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดสุนทรพจน์รอบคัดเลือกตัวแทนสถาบัน สำหรับคัดเลือกตัวแทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแข่งขันการประกวดสุนทรพจน์เฉลิมพระเกียรติระดับชาติ ซึ่งจัดโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เป็นที่ปรึกษาโครงการโต้วาทีอุดมศึกษาชิงโล่ห์พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการแข่งขันโต้วาทีประเพณีระหว่างตัวแทนจาก 7 สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นอกจากนั้นยังเป็นกรรมการตัดสินในการแข่งขัน รวมถึงการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในปี พ.ศ. 2548-2551
  • ร่วมจัดตั้งโครงการแข่งขันโต้วาทีสิ่งแวดล้อมระดับอุดมศึกษาประเภทภาษาไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โดยโครงการนี้เป็นโครงการร่วมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเยาวชน รวมถึงเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนด้านต่างๆ เช่น สร้างภาวะความเป็นผู้นำ พัฒนาทักษะการพูดในที่สาธารณะ เป็นต้น โดยมีตัวแทนจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่าปีละ 12 ทีม การแข่งขันนี้เป็นการแข่งขันตามรูปแบบ All Asian Style ที่ใช้เป็นรูปแบบการโต้วาทีระดับนานาชาติ จึงจัดให้มีการอบรมรูปแบบการแข่งขันให้กับผู้เข้าแข่งทุกคน ซึ่งนอกจากจะร่วมจัดตั้งโครงการนี้แล้ว ยังร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันตลอดทั้งโครงการ
  • ร่วมจัดตั้งโครงการอบรมและแข่งขันโต้วาทีระดับมัธยมศึกษา “โลกรอดเพราะกตัญญู” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ในปี 2551 โดยโครงการนี้เป็นโครงการอบรมการพูดและการโต้วาทีตามแบบสากลให้แก่นักเรียนระดับมัธยมปลายจาก 20 โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้สามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้า การตั้งคำถาม การฟัง การใช้เหตุผลในการโต้แย้งและนำเสนอความคิดเห็นของตนเอง รวมทั้งการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษา ซึ่งนอกจากจะร่วมจัดตั้งโครงการนี้แล้ว ยังมีส่วนร่วมอบรมนักเรียนเหล่านี้และเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันตลอดทั้งโครงการ
ผลงานด้านบริหาร
  • เป็นหัวหน้าเครือข่ายกิจกรรมฝึกงานเทคโนโลยีสะอาด ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อจัดให้มีการฝึกงานในรูปแบบที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ นิสิต และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในการนำความรู้ทางวิชาการไปประยุกต์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
รางวัลที่เคยได้รับ
  • รางวัลผลงานวิจัยดีมาก กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2549
  • รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียนการสอนระดับดีมาก กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2550
เคล็ดลับความสำเร็จ / ความนัยจากใจเกี่ยวกับรางวัลนี้

หากเปรียบให้อาจารย์เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งานประติมากรรมแล้ว การทำงานวิจัยคงคล้ายกับการหาข้อมูลเพื่อให้ได้รูปปั้นที่แปลกใหม่และน่าสนใจ การสอนคือการลงมือปั้นให้ได้ตามแบบที่ร่างไว้ ส่วนงานกิจการนิสิตนั้นเป็นเทคนิคหนึ่งในการเก็บรายละเอียดให้ผลงานมีความงดงาม ซึ่งหากจะสร้างงานศิลปที่โดดเด่นแล้ว คงขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไม่ได้