FACULTY

ทำเนียบ “ศักดิ์อินทาเนีย” : นายกิจชัย กาญจนประภากุล

คุณกิจชัย กาญจนประภากุล เป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสามารถอย่างยิ่ง โดยสามารถนำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้กับการทำงานในด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี เป็นผู้มีความตั้งใจในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย มีความสามารถเชิงความคิดวิเคราะห์และการประยุกต์ ไม่เคยเกี่ยงงาน มีน้ำใจ และได้รับความไว้วางใจจากคณาจารย์ในภาควิชาให้ช่วยงานทางด้านเทคนิค เครื่องมือวิจัย ในหลายกรณี นับเป็นบุคลากรสายสนับสนุนที่มีคุณค่ามากคนหนึ่งของภาควิชาวิศวกรรมเคมี

ตำแหน่ง    ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 5
สังกัด         ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
เริ่มปฏิบัติงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อ 7 มิถุนายน 2542
ประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2546 วศ.บ. (วิศวกรรมการวัดคุม) สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

ลักษณะงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ
  • ดูแลงานซ่อมบำรุง ระบบสาธารณูปโภค อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ภายในภาควิชา
  • ออกแบบ ตรวจเช็ค ซ่อมบำรุง เครื่องมือทดลอง
  • สร้างและให้คำปรึกษาด้านการออกแบบเครื่องมือสำหรับงานวิจัยของนิสิต
  • จัดทำคู่มือการใช้งานเครื่องมือในห้องปฏิบัติการหน่วยปฏิบัติการ (Unit Operation Lab)
  • ถ่ายทำและตัดต่อวีดีโอสำหรับกิจกรรมต่างๆภายในภาควิชา
ความคิดริเริ่มเพื่อปรับปรุงการทำงานที่ทำให้ผลงานมีความโดดเด่น

คิดพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูล (กำลังดำเนินการ) เพื่อติดตามและค้นหาครุภัณฑ์ให้ง่ายขึ้นผ่านระบบ RFID เนื่องจากปัจจุบันการตามหาครุภัณฑ์เป็นปัญหาใหญ่ และต่อเนื่องมานาน เนื่องจากผู้ตรวจสอบและผู้ประสานงานอาจไม่รู้จักเครื่องมือนั้น หรือไม่ทราบที่ตั้งเครื่องมือ และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาการถูกโจรกรรมทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผลงานหรือการปฏิบัติงานที่ได้รับการยกย่องว่าดีเด่นและเป็นที่ประจักษ์ที่อาศัยความรู้ความชำนาญ เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของตำแหน่ง

สร้างเครื่อง syringe pump เพื่อใช้ในงานวิจัย (พ.ศ.2549) โดยสามารถใช้งานมาได้จนถึงปัจจุบัน โดยริเริ่มจากอาจารย์ผู้ทำวิจัยต้องการเครื่องมือที่มีความสามารถตรงตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัย มีราคาที่ไม่แพงเกินไป มีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน ทนทาน และดูแลรักษาง่าย การประดิษฐ์จึงใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศ มีเพียงบางส่วนประกอบเท่านั้นที่ต้องทำขึ้นมาใหม่ เครื่องมือดังกล่าวแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ตัวเครื่อง ชุดควบคุมการทำงาน และส่วนจ่ายพลังงาน ซึ่งเครื่อง syringe pump ที่ได้สร้างขึ้นมีผลการทำงานที่เป็นที่พอใจแก่อาจารย์ผู้ทำวิจัยอย่างมาก และยังมีโอกาสที่จะนำงานชิ้นนี้มาจดอนุสิทธิบัตรได้อีกด้วย

ตัวอย่างการพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อนำความรู้มาพัฒนาการปฏิบัติงาน
  • ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมควบคม (ภาคนอกเวลาราชการ) จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2546
  • เข้าอบรมในหัวข้อต่างๆที่เห็นว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริง เช่น อบรมการใช้งาน DCS (พ.ศ. 2545 และ 2548)
  • ได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาและอบรมมาประยุกต์ใช้งานในการสร้างชุดทดลองควบคุมกระบวนการ Multi Input Multi Output (MIMO) โดยใช้ DCS ของ Yokogawa รุ่น CS 3000 เป็นตัวควบคุมการทำงานและแสดงผลเป็นต้น
รางวัล/การยกย่องอื่นๆ

ได้รับหนังสือแสดงความขอบคุณ และชมเชยในความมีคุณธรรมและน้ำใจ จากผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทเคมีทรีดท์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้เป็นผู้ประสานงานและนำส่งคืนกล้องยีห้อ Fuji รุ่น S5000 ให้กับทางบริษัท ซึ่งได้ลืมไว้ที่ภาควิชา

เคล็ดลับความสำเร็จ / ความนัยจากใจเกี่ยวกับรางวัลนี้
  • ความรู้ ความมุ่งมั่นและความอดทนคือประตูสู่ความสำเร็จ
  • อย่าคิดว่าตัวเองเก่งเพราะมีคนอื่นเก่งกว่าเสมอดังนั้นต้องพร้อมที่จะน้อมรับคำติชมและพร้อมที่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอยู่เสมอ
  • ก่อนที่จะให้ใครช่วยเหลือจงช่วยเหลือตัวเองก่อน
  • ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอยู่เสมอ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาข้าพเจ้ามีความรู้สึกภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาทำงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่แห่งนี้เป็นที่ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ทำงานในสิ่งที่ข้าพเจ้ารัก และได้เปิดโออาสทางความคิดในการทำงาน ให้กับข้าพเจ้าจึงทำให้ข้าพเจ้ารู้อยากทำงานและพัฒนางานให้ดียิ่งๆขึ้นไป อีกทั้งที่นี่ยังเป็นที่ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ และยังมีอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำและคำปรึกษาในการทำงานทำให้ข้าพเจ้าทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขอขอบคุณคณะกรรมการ คณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ทุกท่านซึ่งให้เกียรติมอบรางวัลศักดิ์อินทาเนียแก่ข้าพเจ้าในครั้งนี้และข้าพเจ้าสัญญาว่าจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาการทำงานของข้าพเจ้าและคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป