จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยริเริ่มและพัฒนา “รถโดยสารไฟฟ้า” ในมหาวิทยาลัย ผลงานการร่วมวิจัยและพัฒนาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนที่ใช้งานได้จริง มีต้นทุนค่าบริหารจัดการต่ำ พร้อมเผยแพร่ “จุฬาฯโมเดล” เป็นแนวทางในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าแก่ผู้ที่สนใจพัฒนาต่อยอด เพื่อให้บริการสาธารณะในอนาคต โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงาน แถลงข่าวเรื่อง “จุฬาฯโมเดลกับรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ” เมื่อวันอังคารที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม ๒๐๒ อาคารจามจุรี ๔ โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
รศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า เป็นเวลากว่า ๑๐ ปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวและมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน โดยจุฬาฯได้จัดทำโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ๑๐๐ ปี เพื่อให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่ซึมน้ำ เพิ่มความร่มรื่นให้มหาวิทยาลัย โครงการภายใต้นโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวโครงการหนึ่งที่เป็นรูปธรรม คือ การริเริ่มโครงการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับภาคเอกชน โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์แขนงต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะที่ใช้งานได้จริง มีระบบการบริหารจัดการที่ใช้ต้นทุนต่ำ โดยได้ทดลองให้บริการจริงภายในมหาวิทยาลัยมาแล้วกว่า ๙ ปี ต่อมาได้พัฒนาเทคโนโลยี GPS applications ที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ซึ่งนับเป็นแอพพลิเคชั่นตรวจสอบตำแหน่งรถโดยสารไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย
“จากผลการสำรวจการใช้บริการรถโดยสารไฟฟ้าพบว่ามีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2557 ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการรถโดยสารไฟฟ้าทั้งสิ้น ๓,๓๘๕,๐๘๑ คน ปัจจุบันมีเส้นทางเดินรถ ๕ เส้นทาง และเพิ่มจำนวนรถโดยสารไฟฟ้าให้บริการทั้งสิ้น ๒๕ คัน นอกจากนั้นยังช่วยลดต้นทุนในการให้บริการรถโดยสารได้ ๑,๙๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี และยังพบว่าสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในมหาวิทยาลัยได้ 480 ตันต่อปีอีกด้วย” รศ. ดร.บุญไชย กล่าว
ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “การพัฒนารถโดยสารไฟฟ้านี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในการพัฒนานวัตกรรมให้แก่สังคมและประเทศ โดยร่วมมือกับบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด นำความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ในหลายรูปแบบ ทั้งความรู้ด้านระบบการควบคุมมอเตอร์ขับเคลื่อน การบริหารจัดการจัดการแบตเตอรี่ รวมทั้งแก้ปัญหาด้านเทคนิค การดำเนินงานและการปฎิบัติ รวมถึงศึกษาเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการจริงมาพัฒนาโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถพัฒนาและออกแบบรถโดยสารไฟฟ้าที่ให้บริการในปัจจุบันแทนรถโดยสารระบบเก่าที่ใช้เชื้อเพลิง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการส่งเสริมการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวภายในมหาวิทยาลัย ช่วยลดปริมาณการจราจรและการปล่อยมลพิษ โดยรถโดยสารที่จุฬาฯเลือกใช้ในโครงการนี้เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับเส้นทางสั้นๆ ภายในมหาวิทยาลัย และรถไฮบริดสำหรับเส้นทางที่ไกลออกไปที่ต้องวนออกไปภายนอก เพื่อรับคนจากสถานีรถไฟฟ้า และตามคณะหรือหน่วยงานรอบนอกที่อาจจะต้องประสบกับการจราจรที่หนาแน่นในถนนรอบนอกจุฬาฯ โดยรถทั้งสองประเภทล้วนมีอัตราการปล่อยมลพิษต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ด้านนายต่อศักดิ์ โชติมงคล กรรมการผู้จัดการบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด กล่าวว่า “ขอขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สนับสนุนและให้โอกาสผู้ประกอบการไทยเข้ามาพัฒนาโครงการรถโดยสารไฟฟ้าจนเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าแก่หน่วยงานอื่นที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคต โดยบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ซึ่งมีเทคโนโลยีจากบริษัท สิขร จำกัด ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีรถโดยสารไฟฟ้าจากระบบพื้นฐาน มาเป็นระบบแบตเตอรี่ทั้งหมด ซึ่งระบบนี้ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management) เป็นสำคัญ ต้องรู้ว่าควรชาร์ตไฟเมื่อใด อย่างไร เพื่อรักษาอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ เพราะต้นทุนของแบตเตอรี่เป็นต้นทุนหลัก นอกจากนั้นเรายังมีโรงงานประกอบรถที่มีมาตรฐานและถูกต้อง จนเป็นรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะที่มีมาตรฐานและได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศ”
นายเขมทัต สุคนธสิงห์ กรรมการผู้จัดการ และผู้ดำเนินการบริหารจัดการบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด และบริษัท สิขร จำกัด กล่าวว่า “การผลิตรถโดยสารไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้จุฬาฯโมเดล สามารถเป็นต้นแบบของรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ คือ องค์ความรู้ด้านการพัฒนาแบตเตอรี่และการบริหารจัดการด้วยต้นทุนต่ำ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ที่ดีที่ให้โอกาสภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยี แม้ว่าที่ผ่านมาการบริหารจัดการประสบปัญหาด้านเทคนิคบ้าง แต่ก็สามารถแก้ปัญหาทั้งทางวิชาการ และการปฎิบัติ จนเป็นรถโดยสารระบบไฟฟ้าที่วิ่งบริการผู้โดยสารมาแล้ว ๑๗ ล้านคนและมีสมรรถนะที่สามารถแข่งขันกับรถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศจีนได้แน่นอน”
ที่มา : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.chula.ac.th/th/archive/25706