ขั้นตอนการจัดการขยะมูลฝอยของคณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์
ภาควิชาวิศวกรรมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และ
ที่ปรึกษาโครงการจัดการขยะมูลฝอย คณะวิศวฯ จุฬาฯ
ขั้นตอนการจัดการขยะมูลฝอยของคณะวิศวฯ นั้นจะคล้าย ๆ กับของพวกคอนโดมิเนียมเหมือนกัน คือตรงนี้เราต้องยอมรับว่าชุมชนเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วคือแทนที่จะอยู่แบบบ้านเดี่ยว ๆ ปัจจุบันได้กลายเป็นหมู่-ตึกขึ้นมา ในส่วนคณะวิศวฯ นั้น เป็นตัวอย่างของหมู่ตึกที่ดีมากคือในแต่ละตึกจะมีคนที่ทำให้เกิดขยะมูลฝอยขึ้นมาแล้วเราก็ต้องมีแหล่งรวบรวมตามชั้นต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้คณะวิศวฯ ก็พยามยามที่จะทำเป็นขยะแยกประเภทซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะในชุมชนข้างนอกเขาก็กำลังรณรงค์เรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ทั้งในระดับเทศบาลและ กทม. พอทำการแยกขยะตามตึกแล้วก็จะมีพนักงานมาขนจากที่พักขยะตามตึก ตามชั้นต่าง ๆ ลงไปรวบรวมข้างหลังของตึกภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ อันนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบขั้นที่สอง โดยองค์ประกอบขั้นที่หนึ่งก็คือการจัดการขยะซึ่งก็คือในเรื่องของการเกิดขยะ อันที่สองคือเรื่องของการพักขยะนั่นก็คือ การรอเก็บ ขั้นที่สามจะเป็นเรื่องของการเก็บรวบรวมขยะ หน้าที่ของการเก็บรวบรวมขยะนั้นจะไม่ใช่หน้าที่ของเราแล้ว แต่จะเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่จะเอารถเข้ามาเก็บ ขั้นที่สี่ พอหลังจากการเก็บรวบรวมขยะจะไปสู่ในเรื่องของการการทำ Transfer ก็คือการรวบรวมขยะก้อนใหญ่ ๆ โดยแทนที่จะใช้รถขยะคันเล็ก ๆ ก็เปลี่ยนเป็นรถขยะคันใหญ่ ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ก็คือทำให้เที่ยวของการขนส่งนั้นลดลง ขั้นตอนที่ห้าก็คือในเรื่องของการทำรีไซเคิลหรือการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องของการนำวัสดุไปใช้ การนำไปเผา หรือการเอาไปทำปุ๋ย ก็ถือเป็นเรื่องของการรีไซเคิลหรือการนำทรัพยากรไปใช้ใหม่ทั้งสิ้น ขั้นสุดท้ายก็คืออะไรก็ตามที่ยังคงเหลืออยู่และนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็จะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกหลักวิชา อันนี้คือขั้นตอนทั้งหมดของการจัดการขยะมูลฝอย
คราวนี้เราจะมาพูดถึงในเรื่องของคณะฯ ที่ทางท่าน ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีและทางงานพัฒนาองค์กรและประสิทธิภาพ ได้จัดทำในเรื่องของการคัดแยกขยะมูลฝอย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะตอนนี้ทุกประเทศทั่วโลกนั้นได้มีการรณรงค์เพื่อที่จะไม่ให้ขยะเป็นในหมู่ฝังกลบ คือจะต้องเอามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะบางประเทศในยุโรปนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หมด 100% วิธีการก็คือว่าทำได้เหมือนกันสำหรับในประเทศไทยแต่หลักการที่จะต้องใช้ก็คือหลักการในเรื่องของการแยกขยะมูลฝอยในเบื้องต้น เพราะถ้าเราแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ตอนเริ่มต้นก็จะทำให้การไหลของขยะไปในที่ที่ถูกต้อง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางอย่างถูกหลักวิชา และสิ่งที่สำคัญก็คือว่าตอนนี้ปัญหาขยะในบ้านเรามีอยู่ 2 เรื่อง ก็คือเรื่องหนึ่งเรื่องของจิตสำนึกกับสองเรื่องของความรู้ ในเรื่องของความรู้นั้นสำหรับนิสิตวิศวฯ มีการศึกษาอย่างน้อยระดับวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตทุกคน เพราะฉะนั้นเราน่าจะมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ แต่เรื่องที่สำคัญ ๆ มากนั้นก็คือในเรื่องของจิตสำนึก ทุกคนคิดว่าไม่ใช่ธุระซึ่งมันไม่ถูก เพราะคนหนึ่งขยะชิ้นหนึ่งรวม ๆ กัน หนึ่งร้อยคนก็กลายเป็นขยะหนึ่งร้อยชิ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องของขยะเราควรเริ่มคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งมักมีคนพูดว่าถ้าคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางไปแล้วขยะก็ไปรวมกันที่กลางทางอยู่ดีแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา คิดแบบนี้ไม่ได้ ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ ขยะก็จะเยอะมากและเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราต้องคิดว่าการแยกขยะมูลฝอยนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเริ่มจากที่ตัวเราก่อน แล้วก็ไปที่หน่วยคัดแยกของ กทม. หน่วยจัดการขยะมูลฝอย สุดท้ายจะทำให้เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องคือสามารถนำเอาทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้จริง ๆ โดยผมมองว่าคณะวิศวฯ จะเป็นต้นแบบได้ เพราะเราเป็นหน่วยบริการวิชาการและเป็นเสาหลักของแผ่นดิน เราควรจะเป็นต้นแบบให้เขาอยู่แล้ว อย่างที่ท่านคณบดี ได้พูดในวันที่มีการเดินรณรงค์การแยกขยะมูลฝอยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 เป็นต้น