จุฬาฯ จัดแถลงข่าวเรื่อง “บทเรียนจากเนปาลสู่ไทย…รับมือแผ่นดินไหวอย่างไร”

ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่ประเทศเนปาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และเกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” ได้จัดงานแถลงข่าวเรื่อง“บทเรียนจากเนปาลสู่ไทย…รับมือแผ่นดินไหวอย่างไร” ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๒๐๒ อาคารจามจุรี ๔ เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว      ทั้งในเรื่องสาเหตุ  ผลกระทบ การเตรียมความพร้อมทางด้านอาคาร สิ่งก่อสร้างเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว  รวมถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตและการบำบัดเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ    โดยมี รศ.ทพ.นพ.ดร.สิทธิชัย ทัดศรี  รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าว  ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ  ภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬา ศ.กิตติคุณ ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  ผศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 

รศ. ดร.ปัญญา จารุศิริ และ ผศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ หน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  เปิดเผยว่า เนปาลมีที่ตั้งอยู่บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียกับแผ่นเปลือกโลกอินเดียมาชนกัน ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ การเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาลครั้งนี้ตรงตามทฤษฎีและเป็นเรื่องปกติ  ไม่ต่างจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น     ย้อนหลังไปในอดีต    พื้นที่แถบนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวเป็นประจำอยู่แล้ว   ความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวในเนปาลเกิดจากมาตรฐานสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ยืดหยุ่นรองรับการเกิดแผ่นดินไหว  ทั้งนี้แผ่นดินไหวที่เนปาลเชื่อมั่นว่าไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างแน่นอน  เนื่องจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของแผ่นดิน  ที่น้อยมากและอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมาก  แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลต่อประเทศไทย ได้แก่ แนวมุดตัวสุมาตรา – อันดามัน กลุ่มรอยเลื่อนสะกาย ทางตอนกลางของประเทศเมียนมาร์ กลุ่มรอยเลื่อนในภาคเหนือ กลุ่มรอยเลื่อนในภาคตะวันตก และกลุ่มรอยเลื่อนในภาคใต้    จากข้อมูลในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงซึ่งเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกายในเมียนมาร์  ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยได้แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดพิบัติภัย

ศ.กิตติคุณ ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ประเทศเนปาลมีโอกาสเกิดขึ้นในบ้านเราน้อยมาก       หลายคนคงยังไม่ลืมความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ขนาด ๖.๓ ริคเตอร์ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวที่อาจจะรุนแรงกว่าเดิม   ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายในการออกแบบอาคารให้มีความต้านทานแผ่นดินไหว การให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่ง   ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว  ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาฯ ได้เผยแพร่ความรู้ “ข้อควรรู้สำหรับประชาชนเพื่อป้องกันอันตราย   จากแผ่นดินไหว” ในเว็บไซต์ http://evr.eng.chula.ac.th/index.html  การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์การก่อสร้างสำหรับชิ้นส่วนสำเร็จรูป การเสริมความแข็งแรงของอาคารเก่า ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกครั้งนำความสูญเสียมาสู่มนุษยชาติ    ในขณะเดียวกันยังได้ให้บทเรียนอันล้ำค่าในการเรียนรู้และวิจัยพัฒนาเพื่อป้องกันหรือบรรเทาพิบัติภัยในอนาคต

ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการลงพื้นที่ไปให้ความช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยพิบัติภัย”สึนามิ”ในไทย เมื่อปี  ๒๕๔๗  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ความผิดปกติที่พบบ่อยคือความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ป่วยเป็นโรคเครียดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD)  หวนคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เคยเผชิญ ตกใจกลัว ฯลฯ  ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการช่วยเหลือเยียวยาและบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง

May 1, 2015 Written by pr