จุฬาฯ จัดแถลงข่าว “ไฟไหม้บ่อขยะซ้ำซาก…..แก้อย่างไร”

ตามที่ได้เกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะเนื้อที่ 140 ไร่ ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา พบค่ามลพิษทางอากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ ทั้งนี้เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะนั้นได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้หลายครั้ง ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานแถลงข่าวเรื่อง “ไฟไหม้บ่อขยะซ้ำซาก….แก้อย่างไร” ในวันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2558 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย

ศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าว นักวิชาการจุฬาฯ   ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ผศ.ดร.ศรัณย์ เตชะเสน ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.ทรงกฤษณ์ ประภักดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ

ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ เปิดเผยถึงสาเหตุของไฟไหม้บ่อขยะซ้ำซาก เนื่องจากบ่อขยะคือการจัดการขยะที่ไม่เป็นไปตามแบบทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่ต้องออกแบบเพื่อลดความเสี่ยงทั้งทางสิ่งแวดล้อมและทางอุบัติภัย ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ครบ เช่น เชื้อเพลิงและอุณหภูมิจึงเกิดไฟลุกไหม้ได้ทันที  สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับกรณีต่างประเทศนั้น เหตุที่ต้องใช้เวลานานในการดับเพลิง เนื่องจากบ่อขยะในประเทศไทยไม่เป็นระบบ ไม่ได้เตรียมการเรื่องเส้นทางเดินรถไว้ นอกจากนั้นไฟยังสามารถกระจายได้ในทุกทิศทางเพราะไม่ได้กั้นไว้เป็นห้องๆ แบบในต่างประเทศ ที่สำคัญคือเชื้อไฟยังมีปริมาณมากเนื่องจากเราไม่ได้คัดแยกขยะหรือทำได้ไม่ดีเท่าต่างประเทศ

การสร้างความรู้ทางวิชาการให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันเหตุ รวมถึงการระงับเหตุอย่างถูกต้อง จะต้องลงไปให้ความรู้กับผู้ปฎิบัติคือ อบต. และเทศบาลต่างๆ ในด้านการป้องกันและเฝ้าระวังเหตุเพลิงไหม้ ควรมีการวัดอุณหภูมิและระดับของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ส่วนการระงับเหตุหรือการดับเพลิงและอพยพต้องมีการอบรมให้กับหน่วยดับเพลิง มูลนิธิ และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ต้องเข้าพื้นที่ เรื่องเทคนิคการ ผจญเพลิง ความแข็งแรงของพื้น และเรื่องของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ควรต้องมี ทั้งนี้จะต้องสร้างจิตสำนึกก่อนว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้

ในกรณีที่เกิดไฟไหม้แล้วบ่อขยะยังใช้การต่อได้อีกหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องประเมินดูว่าเกิดความเสียหายกับโครงสร้างของขยะ บ่อขยะ หรือมีความเสี่ยงเรื่องการเกิดไฟไหม้ซ้ำหรือระเบิดหรือไม่   ถ้าไม่หรือมีโอกาสต่ำก็สามารถใช้งานต่อไปได้

           รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล กล่าวถึงประเด็นของผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลักๆ จำแนกได้ 2 ประเด็น ได้แก่ ด้านคุณภาพอากาศและคุณภาพน้ำ และด้านผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ในระยะสั้น จะเกิดความร้อนสะสมในพื้นที่ การบดบังทัศนวิสัยการขับขี่ ระยะยาว อาจเกิดผลจาก acid deposition รวมทั้ง greenhouse effect และผลกระทบต่อด้านสุขภาพ แบ่งตามการรับสัมผัส ได้แก่ ทางการหายใจ ทางการสัมผัส และทางการดื่มกิน เรื่องสุขภาพ ควรตรวจประเมินสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดเหตุแล้ว ประเด็นสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ response team ต้องเตรียมตัวสำหรับการดับเพลิง และการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัย  คือ การเลือกใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้อง มีอุปกรณ์พร้อมเมื่อต้องการใช้ สามารถใช้ได้อย่างถูกที่และถูกเวลา และเก็บรักษาอย่างถูกต้อง โดยเครื่องช่วยหายใจแบ่งออกเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้แล้วทิ้ง (Disposable respirator) และอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ซ้ำได้ (Reusable respirator)

                ผศ.ดร.ศรัณย์ เตชะเสน กล่าวถึงผลกระทบด้านคุณภาพน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินว่า น้ำจากกองขยะ (Leachate) มีอันตรายมากเพราะมีสารต่างๆ ผสมกันจนไม่สามารถบำบัดด้วยวิธีทั่วไปได้ ดังนั้นขั้นแรกควรป้องกันไม่ให้ไหลออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นทางผิวดินที่มองเห็นหรือซึมลงใต้ดินก็ตาม จากนั้นค่อยศึกษาหาวิธีบำบัดที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งอาจเป็นทางชีวภาพที่มีราคาต่ำแต่ใช้เวลานาน หรือทางเคมี ทางกายภาพขั้นสูงที่มีราคาสูงแต่ใช้เวลาน้อย สำหรับผลกระทบในระยะยาวคือ การปนเปื้อนสารพิษของน้ำและดินตลอดตามทางไหลของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน มีสารพิษหลายชนิดที่ตรวจวัดได้ยากเพราะมีความเข้มข้นในน้ำหรือในดินต่ำ แต่สามารถสะสมเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ในสิ่งมีชีวิต (Bioaccumulation) ซึ่งการสะสมนี้เป็นไปตามห่วงโซ่อาหาร เช่น เริ่มจากการสะสมในพืช เมื่อสัตว์เล็กกินพืชก็สะสมเพิ่มขึ้นในสัตว์เล็ก เมื่อสัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็กก็สะสมเพิ่มขึ้นอีก จนถึงคนก็สะสมเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดเมื่อป่วยเป็นโรคอันตรายต่างๆ จะไม่ทราบเลยว่าที่มาของโรคนั้นเป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่จะใช้เวลาสะสมกันเป็นเวลานาน 10-30 ปี และมีผลต่อร่างกายทีละน้อย จนไม่สามารถรักษาได้ในที่สุด

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทเป็นเสาหลักของแผ่นดินด้านวิชาการ จุฬาฯ มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคนิคในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในเชิงพื้นที่ การสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายที่มีอยู่เดิมโดยการอบรมเพิ่มความรู้ในการเฝ้าระวังและจัดการโดยรอบบ่อฝังกลบขยะ และผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพของการคัดแยกขยะในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ประเด็นในการสร้างความพร้อมของเครือข่ายกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ โดยการรวบยอดวิชาการสู่การปฏิบัติของชุมชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการลดเหตุการณ์รุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.ทรงกฤษณ์ ประภักดี เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันของการจัดการขยะว่า หลายฝ่ายให้ความสำคัญกับการพยายามเก็บขยะให้หมด ไม่ให้มีการตกค้างในพื้นที่ชุมชน แต่ละเลยการให้ความสำคัญกับการกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี เพราะการจัดการตามหลักวิชาการทำให้ลดโอกาสของการเกิดผลกระทบในด้านต่างๆ ได้แก่ ลดการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งด้านอากาศ และน้ำ และทำให้คุณภาพชีวิตของคนโดยรอบไม่แย่ลงกว่าเดิม ทั้งนี้การคัดแยกขยะที่ดีจะทำให้ขยะอันตรายไม่ปะปนเข้าไปกับขยะชุมชน และหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ จะทำให้ผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมน้อยลง

ทั้งนี้การเฝ้าระวังสามารถทำได้โดยการเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้เกิดการรวมตัวเพื่อป้องกันและปกป้องดูแลสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของตน ในปัจจุบันมีเครือข่ายการเฝ้าระวังเกิดขึ้นมากจากปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นักวิชาการต้องประสานให้เกิดความร่วมมือกันให้มากขึ้น และรวบยอดเอาวิชาการลงไปให้ปฏิบัติได้โดยชุมชน ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับให้มีสถานที่กำจัดขยะใกล้พื้นที่ตน สิ่งนี้ยิ่งต้องทำให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาการให้มากกว่าเดิม

April 27, 2015 Written by pr