แถลงข่าวเรื่อง “แอร์พอร์ตลิงค์ไม่ปลอดภัยจริงหรือ? ปัญหาระบบงานซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศไทย”

August 27, 2014 Written by pr

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2557 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวเรื่อง แอร์พอร์ตลิงค์ไม่ปลอดภัยจริงหรือปัญหาระบบงานซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศไทย” เพื่อสื่อสารข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมในเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายของระบบรางรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงค์) โดยมี รศ. ทพ. นพ. ดร.สิทธิชัย ทัดศรี รองอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย  ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมด้วยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาวิจัยด้านงานซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผศ. ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ผศ. ดร.บุญชัย แสงเพชรงาม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และ อ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล

สรุปข้อคิดเห็นทางวิชาการ ต่อประเด็นแอร์พอร์ตลิงค์ไม่ปลอดภัยจริงหรือ?”  มีดังนี้

ประเด็นที่ 1 : การสื่อสารที่อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกเกินความจริง

โดยปกติทางรถไฟ และรถไฟก็เหมือนกับรถยนต์ ผิวถนนเมื่อมีการใช้งานก็ย่อมมีการสึกหรอและเสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับส่วนประกอบของทางรถไฟ ได้แก่ ราง หมอน อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง จึงเป็นเรื่องปกติ ยิ่งใช้งานมากก็มีอัตราการเกิดความเสียหายมากขึ้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การตรวจให้พบความเสียหาย วัดปริมาณ ประเมินระดับความเสียหาย และดำเนินการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมให้เหมาะสม

กรณีของภาพความเสียหายบนทางรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์ที่มีการเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์   ถือ ว่าเป็นการให้ข้อมูลเพียงบางส่วน ยังไม่ครบถ้วนเพียงพอที่จะสามารถตัดสินว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย เพราะ (1) ไม่ได้บอกถึงปริมาณความเสียหาย (2) ไม่ได้บอกตำแหน่งที่เกิดขึ้น (3) ไม่ได้บอกเวลาที่ภาพได้ถ่ายมา และ (4) ขาดการระบุความถี่หรืออัตราในการเกิดขึ้นว่าเกิดความเสียหายบ่อยแค่ไหน ดังนั้น จากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนนี้จึงไม่สามารถที่จะสรุปว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ไม่ปลอดภัย

ประเด็นที่ 2 : ปัญหาของระบบงานซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์

ข้อเท็จจริงเชิงวิศวกรรมที่สาธารณชนควรทราบ คือ โดยปกติงานซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ งานซ่อมบำรุงเบา (light maintenance) และงานซ่อมบำรุงหนัก (heavy maintenance) ในลักษณะแรกจะเป็นงานที่จะต้องทำการตรวจสอบแก้ไขอยู่เป็นระยะๆ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน  หากไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำ ก็ไม่สามารถนำรถไฟฟ้าออกไปให้บริการได้ ซึ่งแอร์พอร์ตลิงค์เองก็ทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของฝ่ายบริหารงานซ่อมบำรุง ในมิตินี้ทางแอร์พอร์ตลิงค์อาจให้การยืนยันได้ว่า หากไม่ผ่านการตรวจสอบ ฝ่ายเดินรถก็จะไม่นำรถออกมาวิ่งให้บริการ

แต่สำหรับงานซ่อมบำรุงหนัก ซึ่งโดยปกติรถไฟฟ้ามีรอบเวลาที่จะต้องมีการตรวจสอบสภาพทั้ง ระบบ (overhaul) อยู่ในช่วงระยะการให้บริการของระบบรถไฟฟ้าประมาณ 1.2  ล้านกิโลเมตร + ไม่เกิน 10% หรือประมาณ 1.32 ล้านกิโลเมตร ข้อเท็จจริงก็คือ นับจนถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2557) แอร์พอร์ตลิงค์ได้วิ่ง ให้บริการมาแล้วประมาณ 1.2 ล้านกิโลเมตร และถึงรอบเวลาที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเช็คทั้งระบบ ได้ มีการเตรียมการว่าจ้างเอกชนมาดำเนินการกิจกรรมนี้ แต่ด้วยปัญหาของความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท รรฟท. เอง ที่ผูกอยู่กับความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า กระบวนการประมูลผ่านวิธีทำอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) ที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจทำให้การทำสัญญาจ้างซ่อมบำรุงหนักเสร็จสิ้นในช่วงประมาณปลายปี 2557 ซึ่งถึงเวลานั้นคาดว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จะให้บริการไปแล้วประมาณ 1.3 ล้านกิโลเมตร และภายใต้ข้อกำหนดในสัญญา และกรรมวิธีการซ่อมบำรุง คาดว่าอาจเริ่มต้นการซ่อมบำรุงหนักได้ราวปลายปี 2558 (หรืออาจเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขใน สัญญา)

นั่นหมายถึง แม้ในขณะปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จะได้รับการตรวจสอบสภาพ อยู่เป็นระยะๆ ตามข้อกำหนดงานซ่อมบำรุงเบา และมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่จะต้องมีกิจกรรมการซ่อมบำรุงหนัก และการไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการซ่อมบำรุงหนักให้เริ่มต้นได้โดยเร็ว ก็มีความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอนของอายุการใช้งานของชิ้นส่วนต่างๆ ที่อาจเสื่อมสภาพตามเวลา (อย่างคาดเดาไม่ได้) แต่กรณีนี้หากไม่ผ่านการประเมินในแต่ละวัน ฝ่ายบริหารการเดินรถก็คงไม่อาจอนุญาตให้มีการนำรถไฟฟ้าออกให้บริการได้

ประเด็นที่ 3 : แนวทางการพัฒนาการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และกรณีศึกษาของประเทศ

– หากสามารถกระทำได้ ควรแก้ไขระบบงานบริหารจัดการให้ (1) บริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด  (รรฟท.) มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ เพื่อความคล่องตัวในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อการซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า (2) รรฟท. ควรมีผู้บริหารที่เข้าใจปรัชญา และธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้า และ (3) รรฟท. ควรมีวิธีการจูงใจให้บุคลากรทางเทคนิคที่มีขีดความสามารถในการทำงานสอดคล้องกับบทบาท หน้าที่ มาร่วมงาน โดยมีอัตรารายได้ และสวัสดิการ เหมาะสมสอดคล้องกับอัตราการจ้างงานในตำแหน่งเดียวกันเช่นเดียวกับภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกัน

– ประเทศไทยควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานโครงการรถไฟฟ้า ทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง ตลอดจนการให้บริการ เพื่อลดข้อจำกัดอันเกิดจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน ออกแบบระบบ ตลอดจนให้บริการเดินรถ กลายเป็นหน่วยงานเดียวกันเองทั้งหมด

ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ โปรดติดต่อ

ผศ. ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
โทร. 0-2218-6848
E-mail : pramual.s@chula.ac.th

ผศ. ดร.บุญชัย แสงเพชรงาม
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
โทร. 0-2218-6697
E-mail : boonchai.sa@chula.ac.th

อ. ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
โทร. 0-2218-6610
E-mail : nuksit@gmail.com