อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าว “แผ่นดินไหว…รับมืออย่างไร?”

May 8, 2014 Written by pr

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดแถลงข่าวเรื่อง “แผ่นดินไหว…รับมืออย่างไร?” เมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2557 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการรับมือกับ “แผ่นดินไหว” ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่และรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย  เมื่อเย็นวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย  ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ  ส่งผลกระทบในวงกว้างในด้านต่างๆตามมา โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวครั้งนี้ ผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย รศ. ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ศ. ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

รศ. ดร.ปัญญา จารุศิริ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงหลังมานี้นับเป็นการพลิกตำราด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว เช่นเดียวกับรอยเลื่อนพะเยาที่เรียกได้ว่าเป็นรอยเลื่อนนอกสายตาของนักธรณีวิทยา เพราะคิดว่ารอยเลื่อนนี้มีพลัง แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ใหญ่ขนาดนี้ โอกาสเกิดแผ่นดินใหญ่ตามที่คาดการณ์น่าจะเกิดที่รอยเลื่อนแม่จัน ทำให้กลุ่มนักธรณีวิทยาให้ความสนใจและเฝ้าระวังมากกว่า

“จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่ารอยเลื่อนพะเยาในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหว  คำนวณได้ประมาณ 5 – 5.6 ริกเตอร์ ประกอบกับรอยเลื่อนดังกล่าวเป็นรอยเลื่อนบนหินแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรอยเลื่อนตามลำน้ำแม่ลาว ด้วยเหตุผลในเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้นักวิชาการไม่ได้เฝ้าสังเกตมากนัก เพราะรอยเลื่อนมีพลัง ส่วนใหญ่จะเกิดในตะกอนหรือหินตะกอนที่มีอายุน้อยๆมากกว่า ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในขณะนี้คือรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้เคียงหรืออยู่แนวเดียวกันกับรอยเลื่อนพะเยาที่จะมีการปรับตัวของดินใต้แผ่นเปลือกโลก และยังต้องกลับไปดูรอยเลื่อนนอกสายตาอื่นๆ อีกด้วย จากเหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นข้อมูลใหม่อีกด้านที่เกิดขึ้น พร้อมๆกับการติดตามความเสียหายว่าเกิดขึ้นในพื้นที่วงกว้างเพียงใด ทั้งในประเทศไทย ประเทศพม่า และ ประเทศลาว ที่สำคัญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังรอยเลื่อนแม่จัน เนื่องจากรอยเลื่อนนี้ถึงรอบของการไหวหรือคาบอุบัติซ้ำ สุดท้ายแม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อใดอย่างแม่นยำ แต่เราสามารถเก็บสถิติของเหตุการณ์เพื่อนำไปสู่งานวิจัย และเฝ้าระวังต่อไปเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด” รศ.ดร. ปัญญา กล่าว

ศาสตราภิชาน ดร.ปณิธาน  ลักคุณะประสิทธิ์  ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงข้อมูลความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งสำคัญในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2537 ปี 2550 และปี 2554 โดยแผ่นดินไหวที่เกิดล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 นั้น ข้อสังเกตในเบื้องต้นพบว่ามีความรุนแรงที่สุดเท่าที่มีข้อมูลในยุคใหม่ ส่งผลให้อาคารบางหลังที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงถล่มลงมา หลังคาพัง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับสถานการณ์แผ่นดินไหวในเวลานี้  หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ ต้องทำการสำรวจโครงสร้างพื้นฐาน เสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชั่วคราวเท่าที่จะทำได้โดยเร่งด่วน  ควรเตรียมรถดับเพลิงไว้ให้พร้อม สำรวจระบบโทรคมนาคม ไฟฟ้าฉุกเฉิน จัดที่พักชั่วคราวโดยด่วน พร้อมรถสุขาชั่วคราว ในระยะยาวจะต้องเสริมความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งก่อสร้าง  จัดมาตรการจูงใจให้ประชาชนในการเสริมความแข็งแรงของอาคาร ในส่วนของประชาชน ในเบื้องต้นต้องสังเกตความเสียหายของโครงสร้างอาคาร และให้วิศวกรประเมินเสริมความแข็งแรงของอาคารในระยะยาว  ทั้งนี้ในส่วนของมหาวิทยาลัย จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือแผ่นดินไหวในระดับจังหวัด โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ

รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวต่อถนนและสิ่งก่อสร้างว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถึงแม้จะเป็นแผ่นดินไหวขนาดกลาง แรงสั่นสะเทือนสามารถก่อให้เกิดการเคลื่อนตัวของดินในระดับสูง (อัตราเร่งสูงกว่า 15% ของค่า g) ที่ระยะทาง 20 – 50 กม. จากศูนย์กลางฯ ประกอบกับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างตื้น (ประมาณ 7 กม. จากผิวดิน) และจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชนมาก อัตราการสั่นไหวของพื้นดินในระดับนี้จึงสามารถก่อความเสียหายให้แก่โครงสร้างทางวิศวกรรมได้ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ  โครงสร้างประเภทอิฐรับแรง (โบราณสถาน เจดีย์ และวัด) กำแพงอิฐที่ก่อไม่ได้ตามมาตรฐาน เป็นต้น นอกจากนี้แรงสั่นสะเทือนยังมีความรุนแรงเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดปรากฎการณ์ทรายเหลวในชั้นดินทราย ซึ่งส่งผลให้เกิดการพังทลายของลาดดิน และคันทางต่างๆ ได้