วันที่ 6 มีนาคม 2558 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการบรรยายเชิงวิชาการ ในหัวข้อ “การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐและเอกชนในธุรกิจสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม” โดยมี อาจารย์ ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม เป็นวิทยากร และ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นประธาน
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี กล่าวถึงการจัดบรรยายเชิงวิชาการในครั้งนี้ว่า ตามที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายในการเผยแพร่ ความรู้สู่สาธารณะในประเด็นที่เป็นที่สนใจของสังคม ภายใต้โครงการอาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์” (เปิดโลกลานเกียร์) โดยคณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ และภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม ดำเนินการจัดการบรรยายในหัวข้อ “การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐและเอกชน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม” เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ หลักเกณฑ์พื้นฐานของการแบ่งปันผลประโยชน์ และรูปแบบการจัดเก็บผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่มีใช้กันในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้สังคมได้รับทราบถึงข้อดีข้อเสียของการเลือกใช้รูปแบบการจัดเก็บภาษีปิโตรเลียม (Petroleum Fiscal Regime) แบบต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
“การจัดงานในครั้งนี้ วิศวฯ จุฬาฯ ต้องการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในส่วนของหลักเกณฑ์พื้นฐานของการแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่ง ณ ปัจจุบันสังคมไทยต้องการทราบความชัดเจนตลอดจนหลักปฏิบัติทางสากล ให้ทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจรูปแบบการจัดเก็บ ผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นอกจากนี้ การเปิดเวทีสาธารณในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ พร้อมรับฟังความคิดเห็น นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดทั้งในเชิงความคิด และการลงมือปฏิบัติ และที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชนจะได้รับทราบถึง ข้อดีข้อเสียของการเลือกใช้รูปแบบการจัดเก็บภาษีปิโตรเลียมแบบต่าง ๆ ด้วย” อาจารย์ ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การสำรวจหาปิโตรเลียมที่อยู่ใต้พื้นพิภพจำเป็นต้องอาศัยเงินทุน เทคโนโลยี ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และ เวลา ข้อมูลที่ได้ในช่วงของการสำรวจจะถูกศึกษาและแปลผล เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตที่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงขึ้นมากกว่าในช่วงการสำรวจ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความสลับซับซ้อนทางธรณีวิทยาและความผันผวนของราคาปิโตรเลียมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนในการลงทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีปัจจัยเสี่ยงหลากหลาย ภาครัฐในฐานะผู้ดูแลทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ จึงต้องออกแบบระบบและกลไกในการบริหารจัดการเพื่อให้การนำปิโตรเลียมขึ้นมาจากใต้พื้นพิภพเกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับเงินลงทุน
March 6, 2015