คำถาม-คำตอบ การรับชมดิจิทัลทีวี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทับทิม อ่างแก้ว
นายธีรพงษ์ ประทุมศิริ
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟา คณะวิศวกรรมศาสตร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ขณะนี้หลายท่านได้รับคูปอง ราคา 690 บาทจากสำนักงาน กสทช. สำหรับแลกซื้อกล่องแปลงสัญญาณ (Set top box) หรือใช้เป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์เครื่องใหม่ คำถามที่เราต้องตอบแทบทุกวันคือ จะแลกซื้อกล่องยี่ห้ออะไร รุ่นไหน กล่องแบบไหน ควรเพิ่มเงินเพื่อซื้อรุ่นที่แพงกว่า 690 บาทหรือไม่ รวมถึงจะต้องจ่ายเงินเพื่อต้องซื้อสายอากาศเพิ่มเติมแบบไหนดีเพราะคูปองให้แลกเฉพาะกล่องแปลงสัญญาณเท่านั้นและหากจะนำไปแลกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ที่นำ Set top box ติดตั้งมาให้เรียบร้อยแล้วควรจะซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ ยี่ห้ออะไร รุ่นไหน แบบใด บางท่านแลกมาติดตั้งแล้วรับสัญญาณไม่ได้จะทำอย่างไร เราเชื่อว่าบ้านท่านไม่ได้มีทีวีเครื่องเดียวถ้าจะซื้อเพิ่มเติมอีก ต่อไปนี้คือคำแนะนำ คำถามและคำตอบ
คำถาม : ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล?
คำตอบ : 1. สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกยกเลิกการแพร่ภาพและการกระจายเสียงระบบอนาล็อกแล้วเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ในปีพ.ศ. 2558 (ค.ศ.2015)เป็นต้นไป
2. ระบบดิจิทัล จะทำให้ได้จำนวนช่องสัญญาณมากขึ้นเมื่อเทียบกับอนาล็อกโดยใช้แถบความกว้างสัญญาณที่ได้รับการจัดสรร (Bandwidth) ที่เท่ากัน
3. ระบบดิจิทัลจะให้ความคมชัดทั้งสัญญาณภาพและเสียง ไม่มีสัญญาณรบกวน (Noise) ไม่มีภาพล้ม ภาพโย้ ภาพซ้อน ภาพเป็นเม็ดและเงาให้เห็นเหมือนระบบอนาล็อก เพราะสัญญาณดิจิทัลจะเป็นเลขฐานสอง คือเลข 0 กับ 1 เท่านั้น ถ้าระดับสัญญาณแรงเพียงพอสถานะเป็น 1 ก็จะรับภาพและเสียงได้ชัดเจน ถ้าสัญญาณต่ำกว่าระดับที่กำหนดจะแสดงสถานะเป็น 0 จะฟ้องว่าไม่มีสัญญาณ
4. ทั่วโลกจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทำให้องค์กรที่กำกับและดูแลบริหารจัดการได้ง่ายเป็นแนวทางเดียวกัน
คำถาม : องค์ประกอบในการส่งระบบดิจิทัลมีอะไรบ้าง?
คำตอบ : 1. ความเร็ว (Bit rate) ตัวอย่างที่ได้ยินกันคือ อินเทอร์เน็ตที่บ้านคุณมีความเร็ว……..เมกกะไบท์/วินาที
2. ความถี่ ซึ่งทาง กสทช.จะเป็นผู้กำกับดูแลและจัดสรรให้ใช้ความถี่เท่าใด ย่านไหน สำหรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจะใช้ความถี่ย่าน UHF (510-890 MHz.) คือช่อง 26-69 ในตารางจัดสรรความถี่
3. ความกว้างช่องสัญญาณที่ได้รับการจัดสรร (Bandwidth)เปรียบได้กับความกว้างถนนที่จัดให้รถวิ่ง
คำถาม : โทรทัศน์ระบบอนาล็อกกับระบบดิจิทัลต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
คำตอบ :
1.แตกต่างกันที่ย่านความถี่และความกว้างของแบนวิดท์
Analog |
VHF ช่อง 5-11 |
174-230 MHz. |
UHF ช่อง 3, ไทย PBS |
534-541, 558-565 |
|
Digital |
UHF ช่อง 26-69 |
510-890 MHz. |
2. แบนวิดท์
Analog |
7 MHz. |
ส่งได้ 1 ช่องสัญญาณ |
Digital |
8 MHz. |
ส่ง SD 5 ช่องหรือส่ง HD ได้ 1 ช่อง |
คำถาม : อนาคตเมื่อสัญญาณดิจิทัลครอบคลุมทั่วประเทศแล้วช่องอนาล็อก ความถี่VHF จะนำไปทำอะไร?
คำตอบ : จะถูกนำไปใช้สำหรับส่งวิทยุระบบดิจิทัลมาตรฐานยุโรป ซึ่งเหมาะกับประเทศไทยมากในการแก้ปัญหา สัญญาณรบกวนกันของวิทยุชุมชนเป็นอย่างยิ่งเพราะจะสามารถส่งได้นับพันสถานี
คำถาม : ปัจจุบันสัญญาณโทรทัศน์ส่งถึงบ้านเราได้กี่ช่องทาง ทางใดบ้าง?
คำตอบ : 3 ช่องทางหลัก ได้แก่
จากบนฟ้า คือรับจากดาวเทียมผ่านจานรับสัญญาณดาเทียม 2 ระบบ คือ
- ระบบ C-Band ใช้ความถี่ขาขึ้น 6 GHz. ขาลง 4 GHz. ขนาดหน้าจานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตรขึ้นไป
ข้อดี คือใช้ความถี่ต่ำ การสูญเสียสัญญาณระหว่างทางจึงต่ำด้วย สัญญาณภาพจะไม่ล้มขณะฝนตก
ข้อเสีย การติดตั้งต้องแข็งแรงทนต่อแรงลม ต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้ง ราคาแพง
- ระบบ Ku-Band ใช้ความถี่ขาขึ้น 14 GHz. ขาลง 12 GHz. ขนาดหน้าจาน 50 ซม. การติดตั้งง่าย ราคาถูก
ข้อเสีย ภาพจะล้มขณะฝนตก เพราะความถี่สูงสัญญาณจึงเกิดการสูญเสียสูงตาม
จากใต้ดิน ที่เรียกกันว่า “เคเบิ้ลทีวี” จะเป็นแบบบอกรับสมาชิก โดยบริษัทผู้ให้บริการจะเดินสายนำสัญญาณชนิดเส้นใยแก้วนำแสง (Optical fiber) ส่งไปโดยร้อยท่อเดินสายใต้ดินแนวถนนสำหรับผู้ที่อยู่ในกลางเมือง แต่พื้นที่นอกเมืองยังต้องเกาะไปกับเสาไฟฟ้าไปยังบ้านผู้บอกรับสมาชิกแล้วติดตั้งตัวแยกสัญญาณเดินสายเข้าบ้าน จากนั้นติดตั้งกล่องถอดรหัสสัญญาณ (Set top box) เพื่อต่อเข้าเครื่องรับโทรทัศน์
จากกลางอากาศ คือการรับชมโทรทัศน์ระบบดั้งเดิมโดยการติดตั้งสายอากาศภายนอกอาคารชนิดยากิหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เสาก้างปลา” หรือถ้าอยู่ในเมืองที่สัญญาณแรงพออาจใช้สายอากาศภายในอาคารชนิด “หนวดกุ้ง” ก็ได้ สำหรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดินที่ที่เกิดใหม่นี้จะมาแทนโทรทัศน์ภาคพื้นดินฟรีทีวีระบบอนาล็อกที่มีเพียง 6 ช่อง แต่จะเพิ่มเป็น 48 ช่อง ซึ่งในการรับสัญญาณยังคงต้องใช้สายอากาศรับสัญญาณจากกลางอากาศเหมือนเดิม
คำถาม : มาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิทัล มีกี่มาตรฐาน อะไรบ้าง
คำตอบ : มาตรฐานดิจิทัลทีวีแบ่งได้เป็น 5 มาตรฐาน ได้แก่
- ระบบอเมริกา Advance Television System Committee : ATSC
- ระบบยุโรป Digital Video Broadcast : DVB
- ระบบญี่ปุ่น Integrated System Digital Broadcast : ISDB
- ระบบ เกาหลี Terrestrial Digital Multimedia Broadcast : T-DMB
- ระบบจีน Digital Terrestrial Multimedia Broadcast : DTMB
คำถาม : ประเทศไทยจะใช้ระบบของใคร เพราะเหตุใด?
คำตอบ : จากการประชุมร่วมกลุ่ม 10 ประเทศอาเชี่ยนในการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบอนาล็อกสู่ดิจิทัลเห็นควรเดินไปในแนวทางเดียวกันคือเห็นว่าระบบของยุโรป DVB มาตรฐาน T2 เป็นระบบที่ทันสมัยและเป็นมีกลุ่มผู้ใช้มากที่สุด อีกทั้งอุปกรณ์ของสถานีโทรทัศน์ปัจจุบันสามารถใช้งานร่วมกันได้ แบนวิดท์ของระบบกว้าง 8 MHz. สามารถส่งได้จำนวนช่องมากกว่าและรองรับคุณภาพสัญญาณภาพ High Definition : HD
คำถาม : การส่งระบบอนาล็อกกับดิจิทัล ต่างกันหรือไม่?
คำตอบ : คล้ายกันคือสถานีแม่ข่ายจะส่งต่อสัญญาณไปยังสถานีเครือข่ายในต่างจังหวัดทุกภาคของประเทศเพื่อให้สัญญาณครอบคลุมไปถึงผู้ชมทั่วประเทศ สำหรับเครื่องส่งระบบดิจิทัลในกรุงเทพจะส่งที่อาคารใบหยก 2 แล้วส่งต่อสัญญาณผ่าน Multiplex (MUX) ไปยัง 39 สถานีเครือข่ายทั่วประเทศพร้อมๆกัน เวลาเดียวกันไม่ให้เกิดการ Delay ของสัญญาณด้วยเทคโนโลยีการผสมสัญญาณที่เรียกว่า Orthogonal Frequency Division Multiplexing : OFDM เพื่อแก้ปัญหาการรบกวนกันของสัญญาณ
ดังนั้น ผู้ผลิตรายการจะไม่ต้องมีเครื่องส่งเป็นของตัวเองแต่มีหน้าที่ผลิตรายการให้มีคุณภาพแล้วส่งรายการที่ผลิตนั้นไปให้ผู้ให้บริการ MUX ทำหน้าที่เป็น Contents Provider จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณของผู้ผลิตไปออกอากาศทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการ MUX 4 ราย จำนวน 5 MUX คือ ไทย PBS, อสมท.และ ททบ.5 (2 MUX) เปรียบเสมือนมีถนนให้เช่า 5 สาย โดยมีสถานีพักรถ 39 แห่ง การเชื่อมโยงโครงข่ายไปทั่วประเทศนั้นจะเชื่อมโยงด้วยเส้นใยแก้วนำแสงส่งต่อไปยัง 39 สถานีเครือข่าย
คำถาม : กสทช.จัดแบ่งกลุ่มช่องรายการอย่างไรบ้าง?
คำตอบ : ช่องรายการถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มโทรทัศน์ชุมชน จำนวน 12 ช่อง เป็นรายการที่ชาวชุมชนในท้องถิ่นผลิตรายการกันเองเพื่อเผยแพร่อัตลักษณ์ในชุมชนของตนเองและประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆของชุมชน จึงทำให้รายการในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างไม่เหมือนกันทั่วประเทศเหมือนกับ 36 ช่องของกลุ่มธุรกิจและกลุ่มสาธารณะ กสทช.จะให้งบประมาณสนับสนุนท้องถิ่นในการผลิตรายการภายใต้การควบคุมของ กสทช.
- กลุ่มสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง กลุ่มนี้เหมือนกับช่องทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการคัดเลือกโดยให้ผู้ประสงค์จะขอช่องรายการต้องแสดงความพร้อมและส่งตัวอย่างรายการให้ทางกสทช.พิจารณา (Beauty Contest) ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานภาครัฐเช่นกระทรวงต่างๆ สำหรับกลุ่มทีวีสาธารณะนี้สามารถหาโฆษณาได้แต่พอเลี้ยงตัวเองโดยมิให้แสวงหากำไร
- กลุ่มธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง ทำการประมูลและแพร่ภาพกันขณะนี้จำนวน 24 ช่อง ประกอบด้วย
- ช่องรายการวาไรตี้ความคมชัดสูง HD 7 ช่อง
- ช่องรายการวาไรตี้ความคมชัดมาตรฐาน SD 7 ช่อง
- ช่องรายการเด็กและครอบครัว 3 ช่อง
- ช่องรายการข่าวและสาระ 7 ช่อง
กสทช.ได้นำระบบการประมูลช่องรายการแทนการให้สัมปทานของกลุ่มผู้ประกอบการทีวีธุรกิจเพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัล เช่น การแจกคูปอง 690 บาทกว่า 26 ล้านครัวเรือน เพื่อแลกซื้อกล่องแปลงสัญญาณ Set top box หรือนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องรับทีวีใหม่และให้ทุนสนับสนุนการผลิตรายการของกลุ่มโทรทัศน์ชุมชนในอนาคต เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบดิจิทัลทีวีอย่างทั่วถึง
คำถาม : อุปกรณ์ในการรับชมดิจิทัลทีวีต้องมีอะไรบ้าง?
คำตอบ : อยากให้ท่านแหงนดูเสาก้างปลาบนหลังคาบ้านท่านยังอยู่หรือไม่ ขณะนี้กลับมามีประโยชน์แล้ว
- สายอากาศ ซึ่งจะทำหน้าที่รับสัญญาณจากสถานีส่งเข้ามายังเครื่องรับในบ้าน สายอากาศแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ชนิดแรกคือ สายอากาศภายนอกอาคาร (Out door antenna) หรือเสาก้างปลา ซึ่งเป็นสายอากาศที่ดีที่สุดในการรับสัญญาณที่แรงกว่าการรับในบ้านแต่การติดตั้งยุ่งยาก ต้องมีความแข็งแรงต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญในการติดตั้ง ชนิดที่สองคือสายอากาศภายในอาคาร (Indoor antenna) หรือ หนวดกุ้ง ซึ่งจะติดตั้งไว้ภายในบ้านใกล้ๆเครื่องรับโทรทัศน์ ถ้าบริเวณนั้นห่างไกลจากสถานีส่งมากสัญญาณมีระดับความแรงไม่เพียงพอก็จะไม่สามารถรับสัญญาณได้ กรณีนี้สามารถแก้ไขโดยให้ซื้อสายอากาศภายในอาคารแบบที่มีกระแสไฟเลี้ยง ที่เรียกว่า “Active antenna” เพื่อขยายให้ระดับสัญญาณมีความแรงขึ้นเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว
- กล่องแปลงสัญญาณ (Set top box) กล่องนี้จะทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิทัลจากสถานีส่งคือทำหน้าที่เป็นภาครับเพื่อส่งสัญญาณเข้าเครื่องรับโทรทัศน์เครื่องเดิมให้แสดงผลหน้าจอเป็นระบบดิจิทัล
คำถาม : คูปอง 690 บาทควรนำไปแลกซื้อ Set top box แบบไหน?
คำตอบ : เป็นคำถามที่ถามกันมาก แนะนำให้พิจารณา 5 ประการ ดังนี้
- 1. ต้องมีสติ๊กเกอร์ กสทช. เป็นรูปครุฑสีทอง+QR Code ติดที่ตัวกล่องเพื่อแสดงว่าผ่านการรับรองมาตรฐานจาก กสทช.แล้ว (ในกรณีกล่องเสียในระยะรับประกัน)
- 2. ควรมีช่องต่อ USB แสดงว่ากล่องนี้มีโปรแกรมสำหรับบันทึกรายการล่วงหน้าได้ในกรณีที่บางครั้งเราไม่สะดวกในการชมรายการสดได้
- 3. มีช่องต่อสาย HDMI รองรับการส่งผ่านสัญญาณความเร็วสูงแทนสายต่อแบบเก่าคือสาย AV สีแดง ขาว เหลือง เพราะอุปกรณ์ในปัจจุบันนี้จะเชื่อมต่อด้วยสาย HDMI
- 4. แนะนำให้ซื้อกล่องที่มีหม้อแปลงไฟแยกมาอยู่นอกกล่องเหมือน Adaptor ชาร์จโทรศัพท์มือถือ เพราะจะทำให้ Set top box ไม่ร้อนและยืดอายุการใช้งานหาก Adaptor เสียก็ซื้อเปลี่ยนได้ง่ายราคาไม่แพง
- 5. ในกรณีที่บ้านท่านมีทีวีเครื่องเดียวสามารถใช้สายอากาศชนิดภายในอาคารแบบมีกระแสไฟเลี้ยง (Active antenna)
ในกรณีหากบ้านท่านมีทีวีหลายเครื่องแนะนำให้ติดตั้งสายอากาศยากิบนหลังคาบ้านแล้วลากสายนำสัญญาณมาแยกด้วยตัวแยกสัญญาณกระจายไปตามห้องต่างๆจะได้ระดับสัญญาณที่แรงและประหยัดกว่าใช้สายอากาศภายในอาคารจุดละ 1 ต้น(ถ้าเป็นทีวีรุ่นใหม่ (iDTV) จะไม่ต้องใช้
- สรุปว่า 1. จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อสายอากาศเพิ่มเติมเพราะไม่มีแถมมาให้กับกล่องและควรซื้อกล่องที่ ราคาสูงกว่า 690 บาท จะได้กล่อง Set top box คุณภาพที่สูงกว่า 2. ก่อนซื้อกล่องแปลงสัญญาณต้องให้ทางร้านทำการสแกนหาและตั้งช่องรายการให้เลยเพราะทางร้านจะใช้สายอากาศที่มีอัตราขยายสูงเพื่อให้รับสัญญาณแรงกว่าสายอากาศที่เราใช้งานที่บ้าน
คำถาม : เราจะสามารถตรวจเช็คระดับความแรงสัญญาณเองได้ไหม
คำตอบ : ได้ง่ายๆ เนื่องจาก กสทช.บังคับให้ผู้เป็นตัวแทนจำหน่าย Set top box ต้องพิมพ์ภาษาไทยแนะนำการใช้งานไว้บนรีโมทคอนโทรล และมีปุ่มที่ เลข 5 สำหรับคนพิการทางสายตา เราสามารถตรวจเช็คระดับสัญญาณดังนี้
- 1. การตรวจเช็คระดับความแรงสัญญาณ ให้กดปุ่ม ข้อมูล(Info) สีเขียวที่รีโมท ด้านล่างหน้าจอจะแสดงค่า 2 แถวคือ แถวบนจะแสดงค่าความแรงสัญญาณ แถวล่างจะแสดงคุณภาพระดับสัญญาณ ถ้าเป็นสายอากาศภายในอาคารให้หันสายอากาศหาตำแหน่งที่คุณภาพสัญญาณแถวล่างสูงที่สุดแล้วตั้งสายอากาศที่ตำแหน่งนั้น
- 1. ถ้าเป็นสายอากาศแบบมีไฟเลี้ยงให้สังเกตว่าหลอดไฟที่ตัวสายอากาศติดหรือไม่ หากไม่ติดแสดงว่าไม่ได้เปิดไฟเลี้ยงให้กดปุ่ม “เปิดไฟเลี้ยง” สีเหลืองบนรีโมท สัญญาณจะแรงขึ้นทันที
- 2. ท่านที่ใช้ Smart phone ขอให้ ดาวน์โหลด Application “DTV Service area” เป็น Application ที่กสทช. ได้ทำไว้สำหรับให้บริการผู้ที่ต้องการทราบว่า ตำแหน่งที่บ้านท่านตั้งอยู่ห่างจากสถานีส่งสัญญาณดิจิทัลทีวีภาคพื้นดินระยะทางเท่าใด จะรับสัญญาณด้วยสายอากาศแบบหนวดกุ้งได้หรือไม่และจะรับช่องรายการใดจาก MUX ของใคร อยากให้ท่านDownload มาติดตั้งในมือถือของท่านซึ่งสามารถ Download ได้ทั้งระบบ iOS และ Android
- 3. ท่านที่ใช้ Smart phone ขอให้ ดาวน์โหลด Application “DTV Service area” เป็น Application ที่กสทช. ได้ทำไว้สำหรับให้บริการผู้ที่ต้องการทราบว่า ตำแหน่งที่บ้านท่านตั้งอยู่ห่างจากสถานีส่งสัญญาณดิจิทัลทีวีภาคพื้นดินระยะทางเท่าใด จะรับสัญญาณด้วยสายอากาศแบบหนวดกุ้งได้หรือไม่และจะรับช่องรายการใดจาก MUX ของใคร อยากให้ท่านDownload มาติดตั้งในมือถือของท่านซึ่งสามารถ Download ได้ทั้งระบบ iOS และ Android
คำถาม : ถ้านำคูปอง 690 บาท ไปเป็นส่วนลดเพื่อซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ ควรซื้อแบบใด?
คำตอบ : ขออธิบายประเภทโครงสร้างของเครื่องรับโทรทัศน์ ดังนี้
- 1. Plasma TV มีหลักการทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้าไปกระตุ้น ionization ของ neon gas ให้เกิดการแตกตัวเป็นแม่สีทางแสง ได้แก่ แดง เขียว น้ำเงิน เพื่อให้ไปแสดงผลที่หน้าจอจึงทำให้อัตราส่วน Contrast ratio สูงจึงได้ภาพที่คมชัดเป็นธรรมชาติ ข้อด้อยคือจอชนิดนี้จะมีความร้อนสูง ใช้กระแสไฟฟ้ามากและจอชนิดนี้ไม่มีขนาดเล็กจะมีขนาดตั้งแต่ 40 นิ้วขึ้นไป
- 2. LCD TV ย่อมาจาก Liquid Crystal Display หลักการทำงานจะใช้หลอด CCFL ซึ่งเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาดเล็กเท่าหลอดกาแฟเปล่งแสง Backlight วางระนาบตามแนวนอนเปล่งแสงส่งผ่านไปที่ผลึกเหลวที่บรรจุอยู่ระหว่างแผ่นกระจก 2 แผ่นประกบกันอยู่ เมื่อแสงตกกระทบผลึกเหลวจะเกิดการบิดเอียงของโมเลกุลทำมุมต่างกัน 90๐ จึงทำให้เกิดความแตกต่างของแสงขาว-ดำ (Contrast ratio) เกิดแสงเงาแล้วส่องสว่างไปแสดงผลผ่านทางหน้าจอ เป็นเทคโนโลยีที่แข่งขันกันมากับ Plasma TV
- 3. LED TV ย่อมาจาก Light Emitting Diode เป็นหลอดไดโอดขนาดจิ๋วเท่าเม็ดข้าวโพดที่เห็นกันตามถนนคือไฟจราจรหรือไฟท้ายรถยนต์รุ่นปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดแสงแม่สีคือ แดง เขียว น้ำเงิน เมื่อมีกระแสไฟฟ้าส่งมาป้อนจะทำหน้าที่เปล่งแสงไปตกกระทบกับผลึกเหลวจนเกิดการบิดเอียงทำมุมตามองศาแล้วส่องสว่างไปแสดงผลทางหน้าจอ ดังนั้นส่วนแสดงผลหน้าจอจะเป็นโครงสร้างเดียวกันกับจอชนิด LCD ต่างกันที่ใช้หลอด LED แทนหลอด CCFL ซึ่งทำให้จอมีขนาดบางกว่า กินกระแสไฟฟ้าน้อยกว่าความร้อนต่ำกว่า อายุการใช้งานนานกว่าและสีสันคมชัดกว่า จึงได้รับความนิยมในปัจจุบัน
- 4. 3D TV คือการมองภาพเป็น 3 มิติ มีความตื้นลึกและความหนา เนื่องจากสายตาข้างซ้ายและข้างขวาคนเรามองวัตถุได้ไม่พร้อมกันเพราะดวงตา 2 ข้างเราไม่ติดกัน ดังนั้นภาพที่ตกกระทบที่จอภาพตาจึงเกิดการ Delay ข้อจำกัดในการชมคือต้องสวมแว่นตา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Passive จะเป็นกระจก 2 สี แดงและน้ำเงินเพื่อกรองสีภาพให้ไปแสดงที่ตาข้างซ้ายและข้างขวาจึงทำให้เกิดภาพเป็นมิติขึ้น ชนิดที่สอง คือชนิด Active Frame Sequential 3D: ส่งเฟรมภาพซ้าย 60 เฟรม/วินาที-ขวา 60 เฟรม/วินาทีสลับกันอย่างรวดเร็ว แว่นตาสำหรับชมจะต้องมีแบตเตอรี่ไปเลี้ยงวงจรภายในตัวแว่น สำหรับโครงสร้างของจอเครื่องรับโทรทัศน์ 3 D นั้นโครงสร้างคือ LED TV
- 5. Smart TV คือเครื่องรับโทรทัศน์ที่ผนวก Tablet และ Smart phone เข้าไปไว้ในเครื่องรับรวมถึงมีช่องต่อสาย LAN และ มีระบบ WiFi รองรับการเชื่อมต่อ Internet รองรับการใช้งานผ่าน Application โดยสั่งงานผ่านTablet หรือบางรุ่นใช้เสียงสั่งเพื่อเข้าชม You tube ได้ด้วย โครงสร้างจอเครื่องรับ Smart TV นี้นั้นโครงสร้างจะเป็น LED TV
สรุป ถ้าท่านต้องการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ให้ระวังเพราะขณะนี้ทางบริษัทผู้ผลิตจะผลิตเครื่องรับที่มีภาครับเป็นดิจิทัล ทางร้านค้าจึงนำเครื่องรุ่นเก่าที่ภาครับเป็นอนาล็อกออกมาลดราคาชนิดเรียกว่าถูกอย่างไม่น่าเชื่อเพื่อล้างสต๊อก จะขอแนะนำดังนี้
- 1. เลือกโครงสร้างจอเป็นชนิด LED TV จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น
- 2. ความละเอียดจอภาพแบบ Full HD 1080 P คือ (1080 x 1920 pixel) = 2.07 ล้านจุด/ตารางนิ้ว
- 3. หากมีงบประมาณขอแนะนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า Ultra HD 4 K คือจะเพิ่มความละเอียดขึ้นไปอีก 4 เท่า (3840 x 2160 pixel) = 8.3 ล้านจุด/ตารางนิ้ว
- 4. ช่องต่อสัญญาณ ขอให้พิจารณารุ่นที่มีช่องต่อ HDMI (High Data Multimedia Interface) มากๆช่องเข้าไว้ เพราะอุปกรณ์ต่อพ่วงรุ่นใหม่จะไม่มีสายต่อสัญญาณชนิด AV เหลือง ขาวแดง ต่อไปแต่จะเป็นสาย HDMI เพียงเส้นเดียวที่สามารถส่งได้ทั้งภาพและเสียงคุณภาพและความเร็วสูงแทน
- 5. จะซื้อ LED TV ที่เป็น 3D 4K หรือ Smart TV ขอให้ท่านพิจารณาก่อนว่าซื้อมาแล้วต้องใช้งานให้คุ้มราคา ส่วนจะซื้อขนาดจอเท่าใดนั้นขอให้ท่านพิจารณาตำแหน่งและพื้นที่ที่จะติดตั้งและงบประมาณเป็นหลัก สำหรับยี่ห้อใดนั้นขณะนี้แข่งขันกันทั้งค่ายญี่ปุ่น ค่ายยุโรปแต่อยากแนะนำว่าการรองรับการใช้งาน Application ต่างๆขณะนี้ค่ายเกาหลีจะนำหน้าอยู่ 1 ก้าว
- 6. ถ้าต้องการซื้อวันนี้ iDTV (Integrated Digital TV) คือสิ่งจำเป็นที่ต้องเลือกซื้อ เพราะจะเป็นการนำภาครับที่เป็นดิจิทัลภาคพื้นดินติดตั้งไว้ในเครื่องรับให้เรียบร้อยแล้วจึงไม่ต้องใช้กล่อง Set top box และไม่ต้องมีรีโมทเพิ่มอีก 1 อัน โดยท่านสามารถดูสัญลักษณ์ Mascot “น้องดูดี”ของ กสทช.หรือสอบถามผู้ขายว่าท่านต้องการ iDTV เท่านั้น
คำถาม : ถ้าที่บ้านติดตั้งจานดาวเทียมแล้วหรือเป็นสมาชิกเคเบิ้ลทีวีอยู่แล้วจะต้องทำอย่างไรที่จะดูดิจิทัลทีวี
คำตอบ : ไม่ต้องทำอะไร เพราะกฎ Must Carry ของกสทช.กำหนดให้ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียม ต้องนำรายการดิจิทัลทีวีภาคพื้นดินทั้ง 48 ช่องรายการบรรจุเข้าไว้ใน Platform ของผู้ประกอบการเพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงรายการต่างๆอย่างทั่วถึง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องลงทุนทรัพยากรด้านระบบการส่งสัญญาณเพิ่มขึ้น แต่การรับชมสัญญาณภาพในระบบสัญญาณคุณภาพสูงแบบ HD ที่รับชมผ่านระบบเคเบิ้ลทีวีหรือดาวเทียมจะรับชมได้เพียงคุณภาพสัญญาณ SD เท่านั้น เนื่องจากระบบ HD ภาคพื้นดินใช้ทรัพยากร Bandwidth กว้างกว่า SD ถึง 4 เท่า/ช่องรายการ ถ้าท่านต้องการดูภาพจากต้นฉบับคงต้องรับชมผ่านดิจิทัลทีวีภาคพื้นดิน หากที่บ้านท่านยังรับชมผ่านเครื่องรับทีวีแบบจอหลอดแก้วก้นยาวอยู่ท่านจะไม่สามารถรับชมสัญญาณภาพดิจิทัลทีวีได้ตามต้นฉบับ เนื่องจากเครื่องรับของท่านมีอัตราส่วนของหน้าจอ 4 : 3 แต่เครื่องส่งดิจิทัลทีวีภาคพื้นดินส่งสัญญาณภาพในอัตราส่วน 16 : 9
January 7, 2015