ศศินทร์ – วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมมือเปิดหลักสูตร Sasin Chula Engineering Dual Master’s Degree Program เพิ่มความรู้รอบด้าน พร้อมให้ทุนการศึกษา

ศศินทร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  บริหารสองหลักสูตรร่วมกันภายใต้ชื่อหลักสูตร Sasin Chula Engineering Dual Master’s Degree Program (SCE) เปิดโอกาสให้ผู้ที่จบตรีวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์กายภาพ เข้าศึกษาต่อโทด้านการบริหารจัดการและวิศวกรรมศาสตร์ ระยะเวลา 2 ปี จบแล้วได้รับ 2 ปริญญา พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพที่หลากหลาย  รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและภาคธุรกิจ เปิดสอนปี 2558

งานแถลงข่าวและพิธีลงนามการเปิดหลักสูตรดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2557 ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 โดยมี ศ. น. สพ. ดร.มงคล เตชะกำพุ รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างกันในการบริหารสองหลักสูตร ศ. ดร.ดีพัค ซี เจน ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ กล่าวถึงความเป็นมาของการบริหารสองหลักสูตร ในการนี้ ศ.เติมศักดิ์ กฤษณามระ ที่ปรึกษาสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ร่วมเป็นเกียรติในงานครั้งนี้ด้วย

ศ.ดิพัค ซี เจน  ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ เปิดเผยถึงหลักสูตร Sasin Chula Engineering Dual Master’s Degree Program ว่า เนื่องจากการศึกษาทางด้านบริหารและจัดการในปัจจุบันครอบคลุมวิชาการสาขาต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพ ดังนั้น ผู้ที่เรียนจบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์  เภสัชศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จำเป็นต้องเรียนรู้วิชาการบริหาร หากเปิดหลักสูตรที่สามารถเรียนทั้ง 2 สาขาควบคู่กันไป จะช่วยสร้างศักยภาพให้กับผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรมศาสตร์  ที่ต้องการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้เป็นอย่างดี  โครงการนี้นับเป็นโครงการแรกสำหรับผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้สามารถเรียนปริญญาโททางวิศวกรรมควบคู่ไปกับเรียน MBA ที่ศศินทร์ โครงการต่อไปจะเปิดรับสมัครผู้ที่จบทางด้านเภสัชศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นโครงการต่อเนื่องในอนาคต

“ศศินทร์ถือว่าโครงการนี้เป็นนวัตกรรมสำหรับโลกของการศึกษา เพราะหลักสูตรสหสาขาเป็นการศึกษาสำหรับอนาคต การควบรวมการศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมกับวิชาการบริหารธุรกิจ เพื่อต้องการให้ผู้ที่มีเป้าหมายจะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กร  ต้องเป็นบุคคลที่มีความคุ้นเคยและเข้าใจในสาขาวิชาต่าง ๆ  โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ศศินทร์ร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี         การนำวิชาการที่เข้มข้นทั้งจากศศินทร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  เข้ามารวมกันทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ศึกษาสภาพความเป็นจริงด้านต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม  จะมีโอกาสได้เข้าไปทำงานร่วมกับหลากหลายบริษัทที่ร่วมมือกับโครงการนี้ หรือดำเนินโครงการเพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆในบริษัทดังกล่าว”  ศ. ดิพัค  ซี เจน กล่าว

ศ. ดร.บัณฑิต  เอื้ออาภรณ์  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาฯ  เปิดเผยถึงปัญหาในการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพในปัจจุบันนี้ว่า  เกิดจากความซับซ้อนการเปลี่ยนแปลงของกระแสตลาดโลก ภาคธุรกิจต้องการคนที่มีความรอบรู้ในทุกด้าน คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ โดยนำสองหลักสูตรมารวมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เรียนต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมกันกับด้านการบริหารจัดการ  ที่ผ่านมาเมื่อจบการศึกษา บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวนไม่น้อยศึกษาต่อเพิ่มเติม เช่น การเงิน  การบริหารจัดการ  และสาขาอื่นๆ การเปิดโปรแกรมดังกล่าวนับว่าเป็นนวัตกรรมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในเชิงกว้างอย่างเป็นทางการครั้งแรกของจุฬาฯ  และของประเทศ   โครงการนี้จะสามารถผลิตบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีคุณภาพ  เป็นการรวมสองหลักสูตรครั้งแรกของไทยที่มีการควบสองปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์กับบริหารธุรกิจ   โดยมีองค์กรธุรกิจ ต่าง ๆ ขนาดใหญ่เข้าร่วมในโครงการด้วย

“เราต้องการผลิตคนที่มีโอกาสเลือกอาชีพได้หลากหลาย  จบสาขาไหนไม่จำเป็นต้องทำงานเฉพาะอาชีพนั้น แต่จะต้องพัฒนาตนเองต่อยอดในการทำงานได้  เนื่องจากคนที่มีความรู้และความสามารถหลากหลาย จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า และสามารถแข่งขันกับสังคมในระดับนานาชาติได้     เมื่อนำหลักสูตรทั้งสองมารวมกันจะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และบริหารธุรกิจ นับเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้เรียน” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่าการบริหารสองหลักสูตรร่วมกันดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องเน้นเรื่องการตลาดและบริการ เนื่องจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะทำให้ตลาดใหญ่ขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้น หากสถาบันการศึกษายังสอนแบบเดิม ๆ บุคลากรจะได้รับการพัฒนาไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด  ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในอนาคต ทั้งนี้ Sasin Chula Engineering Dual Master’s Degree Program จะรับสมัครจากผู้ที่จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่มีประสบการณ์ทำงานอย่างต่ำสองปี สามารถต่อยอดในโปรแกรมนี้ได้  ผู้เรียนจะได้รับปริญญาบัตรสองใบ ทั้ง MBA จากศศินทร์ และปริญญาโทด้านวิศวกรรมอุตสาหการ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

Sasin Chula Engineering Dual Master’s Degree Program Scholarships and Fellowships ยังให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวน และทุนการศึกษาบางส่วนแก่ผู้ขอรับทุนที่มีผลการศึกษาดีเลิศและมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสมัครขอทุนได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

ทั้งนี้เปิดรับสมัครนิสิตรุ่นแรกตั้งแต่บัดนี้ – 16 มีนาคม 2558 จะเริ่มการเรียนการสอนในเดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป  ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ http://www.sasin.edu/  http://www.sasin.edu/programs/mba และ http://www.eng.chula.ac.th/en 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.085-832-7700, 0-2218-8356, 0-2218-6833 , 0-2218-4052

December 3, 2014 Written by pr