บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวโครงการเพื่ออนาคตของยนตรกรรมแห่งความยั่งยืน (sustainable mobility) ในประเทศไทย จัดแสดงบีเอ็มดับเบิลยู i3 นวัตกรรมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้าที่มีความล้ำสมัยในด้านเทคโนโลยีที่สุดในโลก พร้อมด้วย บีเอ็มดับเบิลยู i8 รถสปอร์ตระบบปลั๊ก-อินไฮบริด ณ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ รอล์ฟ ชูลเซ่ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เป็นประธานในงาน ในโอกาสนี้ยังเป็นการต้อนรับการมาเยือนประเทศไทยของ ดร. คลอส เดรกเกอร์ คณะกรรมการบริหารบีเอ็มดับเบิลยู เอจี เพื่อประกาศเจตจำนงในการริเริ่มเสาะหาความร่วมมือระหว่างบีเอ็มดับเบิลยู กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัทThaiGerTec บริษัทเทคโนโลยี สัญชาติไทย-เยอรมัน ในการวิจัยและพัฒนาที่ชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบเร็ว (DC quick charger)สำหรับยานยนต์ระบบไฟฟ้า
ดร.เดรกเกอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 เป็นรถยนต์โดยสารคันแรกของโลกที่ผลิตจากพลาสติกเสริมเส้นใยคาร์บอน (carbon fibre-reinforced plastic หรือ CFRP)ที่มีน้ำหนักเบามาก ซึ่งนับเป็นวัสดุสำหรับวิศวกรรมยานยนต์ในอนาคต นอกจากนี้เรายังได้นำบางขั้นตอนของการทดสอบที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย ประกอบเข้าไปในรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูรุ่น i โดย ThaiGerTec บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย-เยอรมัน ได้พัฒนาซอฟท์แวร์ควบคุมความมั่นคงและความปลอดภัยสำหรับบีเอ็มดับเบิลยู i3 และ i8 วันนี้ ผมมีความยินดีที่จะแสดงเจตจำนงในการริเริ่มเสาะหาความร่วมมือระหว่างบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป และ ThaiGerTec ร่วมด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการวิจัยและพัฒนาที่ชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบเร็วสำหรับยานยนต์ระบบไฟฟ้า เราล้วนต้องการเห็นความล้ำหน้าและพลังแห่งนวัตกรรมนี้ จึงนำมาสู่การริเริ่มเสาะหาความร่วมมือกันเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์”
แมทธิอัส พฟาลซ์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “บีเอ็มดับเบิลยู ได้พัฒนา เครื่องยนต์แบบ module-concept รุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นการสร้างมาตรฐานระดับโลกของการประหยัดพลังงานที่มาพร้อมสมรรถนะอันเต็มเปี่ยม ด้วยการเลือกสรรวัสดุที่ทันสมัยและกระบวนการผลิตแบบพิเศษเฉพาะตัวสำหรับชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ทำให้บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเครื่องยนต์ที่ทันสมัยที่สุดของโลก ความริเริ่มในการประกอบเครื่องยนต์ในประเทศไทย รวมถึงการริเริ่มเสาะหาความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ จะเป็นการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะยานยนต์ระบบไฟฟ้าจากเยอรมนีมาสู่ประเทศไทย”
การวิจัยและพัฒนาที่ชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบเร็ว (DC quick charger) ในโครงการนี้ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยใช้แนวคิดการต่อยอดเทคโนโลยีล้ำสมัยของระบบไฟฟ้ากำลังของ BMW i3 ที่มีอยู่ในตัวรถมาพัฒนาเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ถึงร้อยละ 80 ของความจุภายในเวลาเพียง 30 นาที โดย BMW group จะสนับสนุน BMW i3 รวมถึงระบบไฟฟ้ากำลังอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในโครงการวิจัยที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ในปีที่ 2 ของโครงการยังจะได้จัดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าต้นแบบในประเทศไทยจากผลของการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้
รูปประกอบ : Marketeer
http://marketeer.co.th/2014/11/bmw-i8/
November 21, 2014