คณะวิศวฯ จุฬาฯ จับมือ 4 องค์กรธุรกิจชั้นแนวหน้า นำร่องพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ด้วย Chula Engineering Education 4.0 นวัตกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่

คณะวิศวฯ จุฬาฯ จับมือ 4 องค์กรธุรกิจชั้นแนวหน้า นำร่องพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ด้วย Chula Engineering Education 4.0 นวัตกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่

– มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้สอน เปิดโลกทัศน์ผู้เรียนได้รู้จริงทำจริง เพื่อ ให้เกิดประสิทธิผลทางการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม –

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด เผยโฉมนวัตกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ “Chula Engineering Education 4.0” ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความพร้อมในการก้าวสู่ความเป็นสากลภายใต้แนวคิดที่ว่า “Foundation towards Innovation”

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในอดีตการศึกษาระบบ 1.0 และ 2.0 มีลักษณะการถ่ายโอนความรู้ในทิศทางเดียวจากผู้สอนสู่ผู้เรียน แต่ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วยอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันซึ่งนำไปสู่การศึกษาระบบ 3.0 ที่ผู้เรียนไม่สามารถตั้งรับได้ เพียงฝ่ายเดียว  เพราะผู้เรียนต้องเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ และต้องสามารถคัดกรองและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีเข้ามา และประมวลเป็นคำตอบสำหรับบริบทของปัญหาในมือได้    นำไปสู่การได้มาของความรู้ชุดใหม่จากตัวความรู้ตั้งต้นนั่นเอง

โดยล่าสุด วิศวฯ จุฬาฯ ได้นำนวัตกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “การศึกษาระบบ 4.0 หรือ Chula Engineering Education 4.0” เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนภายในคณะวิศวฯ จุฬาฯ ตั้งแต่ต้นปีการศึกษา 2557  โดยหัวใจหลักของระบบการศึกษารูปแบบใหม่นี้ คือ กระบวนการผลิตบุคลากรที่สามารถประสานความรู้กับทักษะในแบบ “เก่งคิดและเก่งคน (Design Thinking)” เพื่อก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในการศึกษาระบบ 4.0 นี้ ความรู้ทางทฤษฎียังมีความสำคัญเช่นเดิม แต่เสริมแกร่งยิ่งขึ้นด้วยการเรียนรู้ และทักษะการฝึกฝนจากประสบการณ์ตรง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนวัตกรรม อาทิ Design thinking หรือกรอบ CDIO, Conceive-Design-Implement-Operate ที่ผู้เรียนต้องสามารถกลั่นกรองจากฐานความรู้ที่มีอยู่และเห็นชัด ในบริบทที่ความรู้เหล่านั้นสามารถนำไปสู่คำตอบได้ เพื่อประสิทธิผลสูงสุดในเชิงธุรกิจและพร้อมเติมเต็มความต้องการของมนุษย์และสังคมอย่างตรงจุด

ทั้งนี้ Design Thinking หรือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นศาสตร์ที่พูดถึงกันอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกระบวนการการออกแบบโดยการคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้ (User) เป็นหลัก จากนั้นจึงนำมาต่อยอด ความคิดรวมถึงการทำงานเป็นทีมของกลุ่มสมาชิกที่มีความถนัดที่แตกต่างและหลากหลาย ซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์ นวัตกรรมในที่สุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ อีกทั้งยังมีแนวความคิดที่อยากให้นิสิตได้ผลิตงานเพื่อตอบโจทย์ทางสังคมและมีผลกระทบในวงกว้างมากกว่าในสายอาชีพ จึงได้มีการริเริ่มรายวิชา Creative Design for Community ซึ่งจัดสอนครั้งแรกในภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2557 โดยเปิดรับนิสิตปีที่ 2-4  ซึ่งในรายวิชานี้นิสิตจะมีโอกาสได้ทำโปรเจคจริงโดยได้รับโจทย์จริงจากองค์กรและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ซึ่งทั้งหมดเป็นโปรเจคเชิงปัญหาสังคม เช่น การจ้างงานของคนพิการ การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้รายวิชานี้ยังได้เชิญวิทยากรภายนอกผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ มาร่วมสอนและให้คำแนะนำ ต่าง ๆ ในรายวิชาอีกด้วย โดยการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวจะถูกนำมาใช้กับนิสิตทุกชั้นปีให้ได้ในอนาคต

“คณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมจาก เชฟรอน, ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, พีทีที โกบอล เคมิคอล และ ปูนซีเมนต์ไทย ที่ได้เล็งเห็นควมสำคัญในการปฏิรูป ระบบการศึกษาเพื่อให้ได้บุคลากรที่เปี่ยมประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้มอบทุนสนับสนุนพัฒนาในด้านฮาร์ดแวร์ของการศึกษาระบบ 4.0 ในครั้งนี้ ซึ่งเราได้ร่วมกันพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ i-SCALE เพื่อให้นิสิตได้คิดเป็น และศูนย์การพัฒนาทักษะ i-DESIGN WORKSPACE ขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้ i-SCALE เป็นลักษณะห้องเรียนยุคใหม่ที่มุ่งพัฒนาให้เกิด Student-Centered  Active Learning Experience ประกอบด้วย โต๊ะเรียนที่จัดรูปแบบได้ง่าย ปรับให้นิสิตเรียนรู้เป็นกลุ่มเล็กหรือใหญ่ได้ตามต้องการ เพื่อก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์และการเรียนรู้ระหว่างนิสิตในกลุ่ม โดยมีอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนที่สำคัญ อาทิ จอแสดงผลที่ให้อาจารย์และนิสิตสามารถแลกเปลี่ยนผลงานในแบบการสื่อสาร 2 ทาง เพื่อสร้างแรงกระตุ้นและส่งเสริม กลไกการเรียนรู้ร่วมกันทั้งระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับผู้เรียน ตลอดจนสนับสนุนการสืบค้นองค์ความรู้ จากแหล่งภายนอก เพื่อให้สามารถนำมาบูรณาการกับการเรียนการสอนบนพื้นฐานของปัญหาอย่างสอดคล้อง กลมกลืน อีกทั้งยังจัดบรรยากาศทั้งเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งให้สดใสและทันสมัย เพื่อกระตุ้นพลังความคิดสร้างสรรค์    ในขณะที่ ศูนย์การพัฒนาทักษะ i-DESIGN WORKSPACEจะเป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติจริง หลังจากที่นิสิตได้คิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ต่างๆ มาจาก ศูนย์การเรียนรู้ i-SCALE โดยศูนย์การพัฒนาทักษะ i-DESIGN WORKSPACE เป็นพื้นที่ทำโครงงาน ที่ทำให้บัณฑิตวิศวฯจุฬาฯ ก้าวจากการผลิตสิ่งประดิษฐ์สู่การฝึกฝนความรู้และทักษะเพื่อการผลิตนวัตกรรมได้ ให้ความคล่องตัวในการรองรับการทำโครงงานของนิสิตจากหลายภาควิชาเพื่อมาทำโครงงานแบบพหุสาขาวิชาได้ รองรับ การทำ digital prototyping ไปจนถึง rapid prototyping ซึ่งหมายถึงการทดสอบแนวคิดสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้การใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้ากับเนื้อหาความรู้เพื่อไปสู่การผลิตนวัตกรรมเป็นไปได้ อย่างเป็นรูปธรรม โดยบรรยากาศภายในจะเป็นแบบ engineering playground มีบรรยากาศสีสันสดใส มีอุปกรณ์การนำเสนอและระบสื่อสารที่พร้อมให้นิสิตเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ทำให้นิสิตได้ถ่ายทอดและเรียนรู้ ร่วมกับเพื่อน สามารถทำโครงงานเพื่อการแข่งขันในทุกระดับ ทำโครงงานกิจการเพื่อสังคม ทำโครงงานจากโจทย์จริง จากธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายกิจชัย ปีติวิวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ภูมิภาคเอเชียใต้ ฝ่ายจัดการแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ตัวแทนจากเชฟรอน กล่าวว่า “เชฟรอนเป็นบริษัทพลังงานที่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี เราให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งด้านการพัฒนา “พลังคน” และการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในการค้นหาและผลิตพลังงานให้กับประเทศที่นับวันจะยิ่งยากขึ้นทุกที การสนับสนุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำโครงการ i-Student-Centered Active Learning Experience (iSCALE) เพื่อปรับปรุงระบบห้องเรียนให้เป็นแบบ Student-Centered Active Learning นี้ ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างความตั้งใจของเราในการสนับสนุนการพัฒนา ‘พลังคน’ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ทักษะหรือความรู้เฉพาะด้าน แต่ต้องมีความสามารถในการสืบค้นข้อมูล คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และทำงานเป็นทีม ซึ่งเราเชื่อว่าห้องเรียนระบบใหม่นี้จะสามารถช่วยพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถรอบด้านให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี การพัฒนาการเรียนการสอนของทางคณะฯ เพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบ 4.0 นั้น ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง และเชฟรอนเองยินดีที่ได้มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาในครั้งนี้ และหวังว่าห้องเรียนเสริมสร้างอัจฉริยะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งอาจารย์และนิสิตต่อไป”

ด้านนายปรีชา ศุภลักษณ์ ที่ปรึกษาและผู้แทนจาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.  กล่าวว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำในเอเชียที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและหัวใจสีเขียว จึงเห็นความสำคัญของระบบห้องเรียน i-SCALE ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่จะสร้างแรงกระตุ้นและส่งเสริมกลไกการเรียนรู้ร่วมกันของนิสิตและกับอาจารย์ผู้สอน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งส่งเสริมการสืบค้นความรู้จากแหล่งภายนอกและสามารถนำมาบูรณาการกับการเรียนเพื่อเสริมสร้างความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง     ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าการใช้ประโยชน์จากห้องเรียน i-SCALE จะนำไปสู่การสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิชาการ  มีความสามารถรอบด้านที่จะช่วยสร้างความเจริญให้กับประเทศจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง”

ในขณะที่ดร.จารุณี ตันติเวชวุฒิกุล ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานกลยุทธ์กิจการเพื่อสังคม ตัวแทนผู้บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า “ในนามของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการ Chula Engineering Education 4.0  ในครั้ง    ด้วยหนึ่งในพันธกิจของเราคือการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม       บริษัทฯ จึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมผ่าน 5 มิติสำคัญ คือ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพ       โดยถือว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว  เพราะการศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีศักยภาพ      ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันสร้างองค์ประกอบทางการศึกษาให้มีพร้อม  โดยปัจจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีถือว่ามีความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาการศึกษาในปัจจุบัน โครงการ Chula Engineering Education 4.0  นับเป็นมิติที่ดีแห่งการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาของไทย ในการนำนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน  เป็นการปรับรูปแบบการจัดการศึกษาจากการสอนเป็นการเรียนรู้  ตามพฤติกรรมของคนและสภาพสังคมในโลกยุคข้อมูลข่าวสารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างมากมายมหาศาล   จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสมาร่วมสนับสนุนโครงการฯ ในครั้งนี้”

ด้านนางฉวีวัณณ์ วิชชุภานันท์ ผู้จัดการอาวุโส พัฒนาเครือข่ายทางเทคโนโลยี บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด กล่าวถึงบทบาทของเอสซีจีในการการให้การสนับสนุนครั้งนี้ว่า เอสซีจีได้มีส่วนในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เรียกว่า Chula Engineering Education 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ประกอบด้วย ประการที่ 1 เรื่องบุคคล หากปัจจัยด้านบุคคลมีความแข็งแกร่งก็จะสามารถสร้างความมั่งคงและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ประเทศได้ โดยการจะสร้างให้บุคคลมีความแข็งแกร่งได้นั้นย่อมเกิดจากการเรียนที่พร้อมและอุปกรณ์การเรียนที่พร้อม ประการที่ 2 เรื่องโอกาส ด้วยวาระฉลองครบรอบ 100 ปีที่ตรงกันเป็นแรงผลักดันให้ เอสซีจี ต้องการที่จะทำกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แก่สังคมไทย เพื่อก้าวย่างสู่ทศวรรษใหม่ที่มั่นคงควบคู่กันไป และประการสุดท้าย เรื่องสถานการณ์ การตอบสนองเจตนารมย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน สร้างวิศวกรยุคใหม่ ภายใต้แนวคิด “คิดเป็นและทำเป็น” จะเป็นหัวใจหลักของการเรียนการสอน และนำสู่การพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ได้ เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมได้ การมีห้องเรียนที่เป็นสื่อทันสมัย สร้างโอกาสให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะทำให้นิสิตได้สัมผัสการเรียนรู้จริงจากมิติอื่นๆ ที่เรียกว่า collective learning และสามารถสร้างสรรค์งานที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับงานต่อไปได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น การให้การสนับสนุนห้องเรียน iSCALE ในครั้งนี้ จะช่วยให้คณะวิศวฯ จุฬาฯ สามารถยกระดับเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน

November 14, 2014 Written by pr

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า