วิศวฯ จุฬาฯ จับมือ กฟผ. สร้างสรรค์โครงการ “จุฬาฯ เอ็นจิเนียริ่ง แอมบาสเดอร์” มุ่งเสริมสร้าง “ตัวจริง” วิศวกรไทย สู่ตลาดโลก
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนแบรนด์ให้เป็น “จุฬาฯ เอ็นจิเนียริ่ง” (Chula Engineering) เพื่อพร้อมรับกับการก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล โดยมีสโลแกน “Foundation towards Innovation” อันหมายถึงรากฐานที่มั่นคงของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีมากว่า 100 ปี ในการเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพ ผลิตบุคคลที่มีความสามารถในการเป็นผู้นำในองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอ้างอิงความรู้ของแผ่นดิน และรากฐานที่มั่นคงนี้จะนำไปสู่ การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) เพื่อสังคม
โดยสิ่งหนึ่งที่คณะฯ ให้ความสำคัญคือการสร้างต้นแบบของ “Innovative Engineers” หรือ “วิศวกรยุคใหม่” ดังนั้น เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและเพื่อให้นิสิตมีความพร้อมต่อการแข่งขันในเวทีโลก คณะฯ จึงต้อง มีการวางแนวทางที่ชัดเจน เพื่อหล่อหลอมวิศวกรที่จบไปให้มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนและเป็นที่พึ่งต่อสังคม ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดตั้งโครงการ “จุฬาฯ เอ็นจิเนียริ่ง แอมบาสเดอร์” (Chula Engineering Ambassador)“ ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนานิสิตของคณะฯ ให้มีศักยภาพและมีความรู้ความสามารถทั้งในด้านศาสตร์ทางวิศวกรรมและในด้านอื่นๆ รวมถึงค้นหาตัวแทนนิสิตที่จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สูสังคม ภายนอกในฐานะ “Innovative Engineers หรือวิศวกรยุคใหม่” เพื่อให้พร้อมต่อการก้าวไปสู่สังคม และการพัฒนาประเทศ โดยได้ร่วมมือกับทาง บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ใน “กิจกรรม 100 คูณ 100” เพื่อร่วมฉลองในโอกาสที่ทั้งสององค์กรครบรอบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2556 นี้ นอกจากนี้ ยังได้รับทุนสนับสนุนโครงการ 1,000,000 บาท จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 400,000 บาท จาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)
“คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดนโยบายและวิสัยทัศน์ในการมุ่งพัฒนานิสิตให้เป็นวิศวกรยุคใหม่ที่มี คุณภาพและคุณธรรมออกสู่สังคมเพื่อพัฒนาประเทศและศาสตร์ทางวิศวกรรม พร้อมส่งเสริมและพัฒนา ศักยภาพของนิสิตให้มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมที่จะเป็น ประโยชน์ต่อการทำงาน การช่วยเหลือสังคมและการพัฒนาประเทศ ทั้งยังยึดเป็นแบบอย่างที่ดีของนิสิตในรุ่นต่อๆ ไป และที่สำคัญคือเพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างพันธมิตรกับองค์กรต่างๆ ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมทางการศึกษาและพัฒนาคุณภาพวิศวกรยุคใหม่ ให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง โดยคณะฯ ได้เปิดโอกาสให้นิสิตชั้นปีที่ 3 เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยโครงการดังกล่าวครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2556 – 30 กันยายน 2557” ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าว