คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ลงนามความร่วมมือพัฒนาบุคลากรป้อน EEC ไทยแลนด์ 4.0 เปิดสมาร์ทแล็บอัจฉริยะ และเตรียมเปิดเมคเกอร์สเปซ ปี 2561

ในยุคทึ่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นานาประเทศมีมาตรการทางการค้าและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังภาคเอกชนลงนามความร่วมมือ MOU กับ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หนุนการสร้างบุคลากรและงานวิจัยนวัตกรรมด้านออโตเมชั่น – หุ่นยนต์ พร้อมเปิด“สมาร์ทแล็บอัจฉริยะ (Delta Industrial Automation Smart Laboratory)” กระตุ้นนวัตกรรมและหนุนสตาร์ทอัพผู้ประกอบการใหม่เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และไทยแลนด์ 40 พร้อมแผนเปิด “เมคเกอร์ – สเปซ” หนุนเมคเกอร์และสตาร์ทอัพร่วมทำงานยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมยั่งยืนในปี 2561

รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในก้าวสู่ปีที่ 101 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากวิสัยทัศน์มุ่งเป็น มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เรามุ่งสร้างคน สร้างสรรค์องค์ความรู้นวัตกรรม พร้อมไปกับสร้างเสริมสังคมไทยและก้าวไกลในสังคมโลก ในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศ พลังความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่าง ภาคการศึกษา ภาคเอกชนและภาครัฐ เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ในการลงนามความร่วมมือ MOU ด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ระหว่างจุฬาลงกรณ์ และ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีและระบบออโตเมชั่นครั้งนี้เป็นการร่วมกันผนึกความเชียวชาญและความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อสังคมไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนหรือกิจกรรมที่สนับสนุนวิจัยและพัฒนาโดยผ่านโครงการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ การเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน เพื่อส่งเสริมพัฒนาและแลกเปลี่ยนบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ระหว่างกัน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยมีกรอบความร่วมมือ คือ เดลต้าฯ สนับสนุนทุนวิจัย งบประมาณ สนับสนุนการศึกษาหรือให้ใช้วัสดุ อุปกรณ์หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านบุคลากรต่อการดำเนินการวิจัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ หากมีทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะร่วมหารือตกลงทำสัญญากันต่อไป

การเปิดสมาร์ทแล็บอัจฉริยะ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยและการฝึกอบรมจากเดลต้าฯ จะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้มีทักษะความเชี่ยวชาญในระบบออโตเมชั่น การกระตุ้นต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เพิ่มมากขึ้น มีจิตสาธารณะและมีความเป็นผู้นำ มีการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างผลงานใหม่ๆออกมาได้มากขึ้น พร้อมทั้งยังได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับต่างๆไปพัฒนาขับเคลื่อนปรเทศและสังคมได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทางเดลต้าฯ ยินดีสนับสนุ่นการเปิด “แมคเกอร์สเปซ” คือพื้นที่สำหรับเมคเกอร์ นักวิจัย สตาร์ทอัพ มาพบปะทำงานและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561

นายเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ในการดำเนินงานของเดลต้า ให้ความสำคัญต่องานวิจัยและพัฒนา หรือ R &D สร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์คุณภาพ  โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ด้วยสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคม ธรรมาภิบาล ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เดลต้าสนับสนุนการศึกษาด้วยเห็นว่าเป็นการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะออกไปเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 และเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 นั้น ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและเพิ่มเสถียรภาพให้กับการผลิต และตอบสนองความต้องการของตลาดที่แตกต่าง ขณะนี้อุตสาหกรรมยังคงมีความต้องการวิศวกรและแรงงานทักษะออโตเมชั่นและหุ่นยนต์จำนวนมาก  รวมถึงบุคลากรที่จะสนับสนุนการซ่อมบำรุงดูแลรักษาระบบออโตเมชั่น เครื่องจักรต่างๆอีกด้วยใน 5 -10 ปีข้างหน้า จากความร่วมมือระหว่าง  เดลต้าฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระหว่างเดลต้า และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนการเปิด สมาร์ทแล็บอัจฉริยะ ที่ก้าวหน้าด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีระบบออโตเมชั่นครั้งนี้จะเป็นพลังสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง Ecosystem เป็นแหล่งเรียนรู้แก่คนรุ่นใหม่ เมคเกอร์ ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให่สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบโจทย์ได้จริงทางสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ3R)  กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลนี้สนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อเร่งเตรียมความพร้อมเนื่องจากอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นรากฐานให้กับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเลกทรอนิกส์อัจฉริยะ, ท่องเที่ยว, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ NewS – Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, ขนส่งและการบิน, ดิจิทัล, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ตลอดจนการแพทย์ครบวงจร ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยประเทศไทยตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะมีการลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมทั้งการร่วมทุนกับภาคเอกชนใน 5 โครงการหลักใน EEC ภายในเดือนกันยายน 2561 ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis), โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ, โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3, โครงการท่าเรือมาบตะพุดระยะ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภามูลค่าลงทุนรวมทั้งหมด 400,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ได้เร่งจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อป้อนแรงงานสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศในพื้นที่ EEC ที่ต้องการสร้างขึ้นมาอีกกว่า 63,500 คน ภายใน 5 ปี เพื่อมารองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมยุคที่ 4 หรือIndustry 4.0 ทั้งนี้ทำให้มีความต้องการบุคลากรทางด้านออโตเมชั่นหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น ได้เวลาแล้วที่ SME อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยไม่อาจละเลย ต้องมุ่งไปที่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกิจการ หรือความต้องการปรับเปลี่ยนองค์กรของตนเองให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้สำเร็จ

รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาคการศึกษาและเอสเอ็มอีของไทยต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและบริบทของโลกที่เป็นไปรวดเร็ว ทำอย่างไรเอสเอ็มอีไทยจะใช้ระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถ จากคุณค่าประโยชน์ที่ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพและเพิ่มปริมาณการผลิตโดยไม่ต้องซื้อที่ดินสร้างโรงงานใหม่ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งช่วยประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะเชื่อมโยงการสื่อสารข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งทำให้สามารถใช้ข้อมูลมาบริหารจัดการอย่างเรียลไทม์  และการตัดสินใจด้วยประสิทธิภาพทันเหตุการณ์ นับเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจยุค 4.0

ผศ. ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย(TRS : Thai Robotics Society) กล่าวว่า ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 และไทยแลนด์ 4.0 แต่หากพิจารณาถึงอัตราส่วนการทดแทนแรงงานของหุ่นยนต์ต่อจำนวนแรงงาน 10,000 คน (robot density) ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณการใช้หุ่นยนต์อยู่ในอันดับที่ 9-10 ของโลก โดยมีอัตราการใช้หุ่นยนต์อยู่ 50-60 ตัว ต่อจำนวนแรงงาน 10,000 คน ซึ่งค่าเฉลี่ยของอัตราการใช้หุ่นยนต์อยู่ที่ 66 ตัว ต่อจำนวนแรงงาน 10,000 คน และพบว่าในปี 2557 ประเทศไทยมีปริมาณนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนและจากความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางด้านอุตสาหกรรม และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มของการใช้หุ่นยนต์ในภาคบริการ สุขภาพการแพทย์และในบ้านมากขึ้นเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในอนาคตด้วย

ข้อมูลจากสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (ไอเอฟอาร์) (International Federation of Robotics :IFR) คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมที่จะนำหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์มาใช้งานเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ซึ่งล้วนเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดหุ่นยนต์จะเติบโตต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย ปริมาณซัพพลายของหุ่นยนต์เติบโตขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ ในขณะที่ มีการคาดการณ์ว่า การติดตั้งหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศจีนจะเป็นตลาดหลักที่ผลักดันให้ตลาดหุ่นยนต์ของโลกเติบโต และคาดว่า จะมีปริมาณการติดตั้งหุ่นยนต์เพื่อใช้งานในประเทศจีนเป็นสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2562

ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การผลิตบุคลากรไทยตอบสนองความต้องการด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทยโดยมีการพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นวิทยาการควบคู่ทักษะการปฏิบัติ ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัยที่กระตุ้นให้นักศึกษาใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้ดียิ่งขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดอบรมส่งนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปเรียนรู้ระบบออโตเมชั่นในภาคอุตสาหกรรม ที่เดลต้าฯ และจัดอบรมให้กับกลุ่ม SME สตาร์ทอัพเข้ามาศึกษาระบบ Automation ให้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมงาน Innovation และสตาร์ทอัพให้เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

ในด้านอุปสรรคในการผลิตหุ่นยนต์ของประเทศไทยคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคมีความแข็งแกร่ง และมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เช่น จีน เกาหลี เวียดนาม ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านการค้าและต้นทุนมากขึ้น เป็นผลกระทบต่อการค้าและอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย ควรลดภาษีอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรมออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ เช่น เซ็นเซอร์ ในด้านการพัฒนาบุคลากรควรพิจารณาผลตอบแทนสำหรับบัณฑิตที่จบการศึกษาระหว่างอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาไม่ให้มีความแตกต่างกันมากนัก จะช่วยลดการสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพไปยังองค์กรอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หรือไปเรียนต่อสาขาอื่น เป็นต้น

ตัวอย่าง 3 นวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ซึ่งนำมาแสดงในงาน ได้แก่ NAX เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในการทดลองปฏิกิริยากับมนุษย์และพัฒนาเป็นหุ่นยนต์บริการและรักษาความปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต่อวิถีชีวิตและธุรกิจยุค 4.0  Smart Farm Drone เป็นโดรนขนาดใหญ่สำหรับการดูแลสมาร์ทฟาร์ม โดรนสามารถบินพ่นปุ๋ยได้นาน 10 นาที ต่อเที่ยว ส่วน Inspection Drone เป็นโดรนสำรวจเพื่อการวิเคราะห์เชิงลึก โดยบันทึกภาพถ่ายทางอากาศที่เก็บรายละเอียด เช่น แปลงพืชเกษตร ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ การทำนายผลผลิต ดูคุณภาพของพืชที่ปลูก และนำข้อมูลมาใช้บริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า