จุฬาฯ – สจล. – ซีเอ็มเคแอล ผนึกกำลัง เตรียมเปิด ป.ตรี ด้านวิศวฯ และเทคโนโลยีขั้นสูงร่วมกันครั้งแรกของไทย คาดรับรุ่นแรกสิงหาคม 2561

จุฬาฯ – สจล. – ซีเอ็มเคแอล ผนึกกำลัง เตรียมเปิด ป.ตรี ด้านวิศวฯ และเทคโนโลยีขั้นสูงร่วมกันครั้งแรกของไทย คาดรับรุ่นแรกสิงหาคม 2561

เปิดมิติใหม่วงการอุดมศึกษาไทย 3 สถาบันชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนาม MOU จัดตั้ง 2 หลักสูตร ยกศักยภาพและขีดความสามารถบัณฑิตไทย ตอบโจทย์วาระแห่งชาติ

วันที่ 30 มกราคม 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) ผนึกกำลังเปิดมิติใหม่วงการอุดมศึกษาไทย จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ โดย รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รศ. ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และ ผศ. ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) เพื่อสร้างหลักสูตรปริญญาตรีด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ เป็นหลักสูตรสองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) และด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical & Computer Engineering: ECE) ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพด้านการศึกษาและศักยภาพบัณฑิตไทย ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ สอดรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรเหล่านี้จำนวนมาก เชื่อมั่นช่วยผลิตบัณฑิตตอบสนองวาระแห่งชาติและตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ทัดเทียมนานาชาติอีกด้วย

ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้ภาคการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งอัพเกรดองค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศยังต้องการบุคลากร ในการสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาในยุคนี้ ต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้ดำเนินการสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการสร้าง
• หลักสูตรปริญญาตรี สองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
• และทั้งสองสถาบันจะร่วมกับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในการพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical & Computer Engineering: ECE) ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล

ด้าน ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อตอบสนองวาระแห่งชาติในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ตรงกับความต้องการของประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก นอกจากนี้จะยังมีการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุนวิชาการ และนักศึกษา โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสถาบัน ซึ่งแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญและจุดเด่นต่างกัน ในทางปฏิบัติจึงเป็นการช่วยเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ทรัพยากรทางวิชาการร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการ แก่ สังคม ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อีกด้วย

โดยหลังจากพิธีการลงนามความร่วมมือในวันนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสามสถาบัน เรียกว่า “คณะกรรมการโครงการความร่วมมือสามฝ่าย” เพื่อดำเนินการจัดตั้งหลักสูตรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จ และสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป โดยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ จะหมุนเวียนเรียนทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเน้นหลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งปัจจุบันเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ ไม่เฉพาะในด้านการทำงานซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์จะเข้ามาแทนแรงงานคนเราในหลาย ๆ วิชาชีพเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เราใช้อยู่ทุกวัน เมื่อจบการศึกษาจะได้ปริญญาบัตรจากทั้งสองสถาบันการศึกษา ถือเป็นข้อได้เปรียบเนื่องจากผ่านการเรียนรู้จาก สถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับต้นของประเทศ

ขณะที่ ผศ. ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) กล่าวเสริมว่า ด้วยจุดเด่นของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล อันเป็นสถาบันที่ดำเนินการภายใต้การจัดการการศึกษาร่วม ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลก ทำให้หลักสูตร ปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical &Computer Engineering: ECE) สามารถผลิตบัณฑิตได้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านหุ่นยนต์สมองกล วิทยาศาสตร์ข้อมูล ความปลอดภัยไซเบอร์ เครือข่ายไร้สาย เมืองอัจฉริยะ พลังงาน และเทคโนโลยีสุขภาพ ด้วยองค์ความรู้เหล่านี้จะทำให้บัณฑิตที่ศึกษาและจบหลักสูตรนี้ เป็นบุคลากรสำคัญที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศด้วย