วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีเปิดห้อง MI the making of the innovatist ณ ชั้น M อาคารวิศวฯ 100 ปี โดยมี รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี เป็นประธานในพิธี
MI the making of innovatist Center เป็นพื้นที่ส่งเสริมการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ภายใต้โครงการบ้านของวิศวกรยุคใหม่ (Home of Neo Engineers) เพื่อรองรับการทำงานและสร้างชิ้นงานที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานของนวัตกรเพื่อใช้ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือจากหลายสาขาวิชา โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นจุดเชื่อมต่อของวิธีแก้ปัญหา (Solution) ต่าง ๆ ให้กับสังคม โดยเปิดให้บริการพื้น 3 โซน ได้แก่พื้นที่โซนแรกบริเวณทางเข้า เป็นพื้นที่รับรองสำหรับการนำเสนอไอเดียและจัดแสดงชิ้นงานต่างๆ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ที่น่ารู้ และจุดลงทะเบียนเข้าออกและใช้บริการยืมคืนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ถัดไปพื้นที่โซนที่สอง เป็นพื้นที่สำหรับรองรับการทำงาน กิจกรรม อบรม สร้างสรรค์ความคิดและนำเสนอไอเดีย ตลอดจนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ และโซนด้านในสุดจะเป็นพื้นที่รองรับการประกอบชิ้นงาน ใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ในการปรับแต่งชิ้นงานหรือทำแบบจำลอง และการใช้งานเครื่องมือสร้างชิ้นงาน เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่อง CNCs และเครื่องตัดเลเซอร์ เป็นต้น โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ 09.00-20.00 น. สำหรับนิสิตทั้งในและนอกคณะวิศวฯ บุคคลากรและบุคคลทั่วไป ณ พื้นที่ชั้นลอย (M floor) อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แนวคิดหลักการให้บริการของ MI the making of innovatist Center
MI จะอำนวยความสะดวกทั้งด้านเครื่องมือที่จำเป็น (Tools) และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ (Experts) บนพื้นฐานของการใช้งานอย่างปลอดภัย โดยมีแนวคิดหลักของการให้บริการ ดังนี้
1) เครื่องมือต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ตลอดเวลา
2) มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำในการใช้งานที่ถูกต้องและเหมาะสม
3) มีระบบบริหารเวลาการใช้งานและสิทธิการใช้งานอย่างเหมาะสม ได้แก่
- Level ระบบควบคุมการเข้าออกและการใช้งานของสมาชิกและบุคคลภายนอก
- Permission ระบบจัดการสิทธิและความรับผิดชอบในการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ
- Accountability ระบบเก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อใช้ตรวจสอบสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ เช่น กล้องวงจรปิด ระบบลงชื่อใช้งานเครื่องมือ ฯลฯ
โดยการให้บริการเครื่องมือแต่ละชนิด ผู้ใช้บริการจะต้องมีการลงชื่อและเวลาที่ขอใช้ และเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมืออย่างถูกต้อง โดยหากเกิดความเสียหายกับเครื่องมือจะต้องรีบแจ้งความผิดปกติของเครื่องมือเท่าแก่ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ทันที
4) การจัดการเครื่องมือและวัสดุ (Stock & Tools Management) เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) พื้นที่ทดลอง (Sandbox) และความเอื้อเฟื้อ (Compassion) ในพื้นที่ MI แต่เครื่องมือบางประเภทที่ต้องใช้วัสดุที่หาซื้อได้ยากหรือมีราคาแพงเมื่อแบ่งซื้อปริมาณน้อย เจ้าหน้าที่ประจำ Maker space จะรับหน้าที่จัดหาและเก็บสำรองไว้ในระบบคลัง (Stock) และระบบการฝากสั่งซื้อ โดยแบ่งขายตามราคาที่เหมาะสมด้วยเงินจริงเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และระบบคลัง (Stock) จะเก็บสำรองวัสดุสิ้นเปลืองและอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นในการทำชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) ตัวอย่างของวัสดุและอุปกรณ์ที่มีในระบบคลังสำหรับการสร้างชิ้นงานในด้านต่าง ๆ เช่น
งานเครื่องกล
- น็อตตัวผู้ (Bolt) น็อตตัวเมีย (Nut) ขนาด ความยาว และชนิดต่าง ๆ
- Aluminium profile/plate/rod แผ่นไม้ แผ่นอะครีลิค ที่ใช้ออกแบบชิ้นงานต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว
- เส้นพลาสติกสำหรับการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
- วัสดุสิ้นเปลือง เช่น กาว Epoxy / กาวร้อน / สเปรย์หล่อลื่น / WD-40 / Sonax / Loctite
งานไฟฟ้า
- ตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุ LED ค่าต่าง ๆ
- Transistor / Logic IC มาตรฐานเบอร์ต่าง ๆ
- Connector มาตรฐานแบบต่าง ๆ
- มอเตอร์ เซนเซอร์แบบต่าง ๆ ที่มีราคาไม่สูงมาก
- Prototype board / Arduino / Raspberry Pi / Beagle Bone สำหรับให้ยืมเพื่อทดสอบ
- วัสดุสิ้นเปลือง เช่น สายไฟ ตะกั่วบัดกรี ท่อหด เป็นต้น
ทั้งนี้ ระบบสั่งซื้อและให้คำปรึกษาในการซื้อวัสดุอุปกรณ์ จะรวบรวมฐานข้อมูลของร้านค้าที่จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ สำหรับอุปกรณ์ที่ไม่มีอยู่ในคลัง ถ้าหากรายการสั่งซื้อรวมของสมาชิกมีปริมาณมากพอ เจ้าหน้าที่สามารถสั่งซื้อกับร้านค้าและระบุให้มาส่งที่ MI ได้ ถ้าหากรายการมีปริมาณน้อยหรือไม่สามารถสั่งซื้อได้ ทาง MI จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับร้านค้าหรือแหล่งที่ซื้อวัสดุอุปกรณ์นั้น ๆ ได้ รวมถึงการให้คำปรึกษาเรื่องการสั่งทำชิ้นงานจากภายนอก เช่น การสั่งทำ PCB การสั่งประกอบวงจร การสั่งขึ้นรูปโลหะ ฯลฯ
กิจกรรม (Activities)
จุดมุ่งหมายการพัฒนา MI นอกจากเป็นพื้นที่ในการพัฒนาชิ้นงานและนวัตกรรมแล้ว ยังเอื้อให้เกิดการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนิสิต เช่น การจัดกิจกรรม Workshop เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมให้นิสิตทำโครงการที่ตนเองริเริ่มได้สำเร็จ เช่น โครงงานในห้องเรียน (Class projects) โครงงานทางด้านวิศวกรรม (Senior projects) หรือโครงการสตาร์ทอัพ (Startup projects) เมื่อนิสิตริเริ่มโครงการ เรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือ และรู้วิธีการทำงาน นิสิตเหล่านั้นก็พร้อมที่จะประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ออกมา โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ และกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือ