วิศวฯ จุฬาฯ ลงนามข้อตกลงร่วมกับ iRAP พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยถนนไทยสู่ระดับสากล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับ International Road Assessment Programme (iRAP) ก้าวสู่ศูนย์ความเป็นเลิศ (Centre of Excellence) เพื่อสนับสนุน และผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยสู่ระดับสากล โดยจะเป็น 1 ใน 10 ศูนย์ความเป็นเลิศของ iRAP ของโลกในการให้คำแนะนำด้านเทคนิคเกี่ยวกับความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางถนน

“ในฐานะศูนย์ความเป็นเลิศของ iRAP คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในประเทศไทย เพื่อสร้างแผนที่ความเสี่ยง (Risk Mapping) ในการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการประเมินถนนแบบดาว (Star Ratings) และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสำหรับถนนในประเทศไทย นอกจากนี้ คณะวิศวฯ จุฬาฯ จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน อาทิเช่น กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐาน ThaiRAP ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนได้” รองศาสตราจารย์ ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ความสำเร็จของข้อตกลงข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) ภายใต้โครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก (BIGRS) โดยความร่วมมือกับธนาคารโลก และ iRAP ทั้งนี้ iRAP ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านความปลอดภัยทางถนนได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลกในการผลักดันและขับเคลื่อนสู่เป้าหมายของสหประชาชาติในการลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุทางถนน

Mr. Rob McInerney, CEO ของ iRAP ได้เน้นยํ้าถึงความสำคัญของปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนถนนในประเทศไทย จากรายงานขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงเป็นอันดับสองของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 24,000 คน ในแต่ละปี คิดเป็นความสูญเสียมากถึง 66 รายในแต่ละวัน โดยร้อยละ 83 เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้เดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 3-5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

“ความเชี่ยวชาญจากคณะวิศวฯ จุฬาฯ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในประเทศไทย เพื่อสร้างมาตรฐาน ThaiRAP จะช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในประเทศไทยได้ สิ่งสำคัญที่สุดได้แก่การปรับปรุงแก้ไขถนนที่อยู่ในระดับ 1 ดาว และ 2 ดาวสำหรับผู้เดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป้าหมายของสหประชาชาติได้กำหนดให้การเดินทางอย่าง น้อยร้อยละ 75 สำหรับผู้ใช้ทางทุกประเภท ต้องอยู่บนถนนตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป หากประเทศไทยสามารถบรรลุ ค่าเป้าหมายดังกล่าว จะช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้มากกว่า 1 ใน 3 โดยจะเกิดผลประโยชน์อย่างน้อย 34 บาท สำหรับงบประมาณทุก ๆ 1 บาทที่ลงทุน” Mr. McInerney กล่าว

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยระดับชาติที่มีประวัติยาวนานกว่า 101 ปี เป็นหน่วยงานของประเทศไทยที่เหมาะสมสำหรับการตั้งศูนย์เชี่ยวชาญ iRAP และมีงานวิจัยด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนนที่โดดเด่น นวัตกรรม ท้องถิ่นและความรู้ความเชี่ยวชาญของจุฬาฯ จะสามารถช่วยลดความสูญเสียของอุบัติเหตุทางถนน และช่วยสนับสนุนเครือข่ายความร่วมมือของ iRAP ทั่วโลก เรามีความยินดีที่จะร่วมมือกับคณะวิศวฯ จุฬาฯ และหน่วยงานภาครัฐของไทย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างมาตรฐาน ThaiRAP และช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากถนน” Mr. McInerney กล่าวเสริม

นอกเหนือจากคณะวิศวฯ จุฬาฯ ในฐานะศู นย์เชี่ยวชาญ iRAP ของประเทศไทย หน่วยงานอีก 9 หน่วยงานในโลกที่ได้รับเลือกเป็นศูนย์เชี่ยวชาญ iRAP ประกอบด้วย ARRB Group ประเทศออสเตรเลีย, Instituto Mexicano del Transporte (IMT) ประเทศเม็กซิโก, Labtrans ประเทศบราซิล, Korea Transport Institute (KOTI) ประเทศเกาหลีใต้, Malaysian Institute of Road Safety Research (MIROS) ประเทศมาเลเซีย, RIOH สาธารณรัฐประชาชนจีน, MRIGlobal สหรัฐอเมริกา, TRL สหราชอาณาจักร, และ SWOV ประเทศเนเธอร์แลนด์

การประเมินแบบดาวใช้แนวคิดจากข้อมูลการสำรวจถนน โดยเป็นมาตรวัดที่เข้าใจง่ายและมีเป้าหมายเพื่อวัดระดั บความปลอดภัยของถนน โดยพิจารณาจากมิติของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้า ถนนที่ได้ 5 ดาวจัดเป็นถนนที่มีความปลอดภัยสูงสุด และถนนที่ได้ 1 ดาวจะเป็นถนนที่มีความปลอดภัยต่ำสุด มาตรฐานและค่าเป้าหมายของถนนที่ปลอดภัยควรอยู่ที่ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่

Judy Williams, Global Programme Manager, iRAP

email: judy.williams@irap.org, tel +61 400 782 20

รองศาสตราจารย์ ดร.เกษม ชูจารุกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลั ย

email: kasem.choo@chula.ac.th, tel +66 2218 6309