นวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วย “อนุภาคทรงกลมขนาดไมครอน” โดยคณาจารย์วิศวฯ

แม้ว่าการรักษาในปัจจุบันจะมีวิวัฒนาการก้าวหน้าและลดการเกิดโรคหรือควบคุมโรคได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็มีผู้รับการรักษาไม่น้อยที่ต้องใช้เวลาในการรักษา มีการรับยาปฏิชีวนะซ้ำๆ รวมไปถึงเสียเวลาในการเดินทางเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพบาบาลเป็นประจำ

ต่อไปนี้การรักษาจะไม่ใช่เรื่องของคุณหมอเพียงอาชีพเดียวอีกต่อไป เมื่อสายวิศวะฯ ขออาสาพัฒนาช่วยอีกแรงในการคิดค้นนวัตกรรม “อนุภาคทรงกลมขนาดไมครอน” เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการรักษา ตรงจุด และลดปริมาณยาที่เกินความจำเป็นต่อร่างกาย พัฒนาโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ และคณะผู้วิจัย จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช และภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“อนุภาคขนาดไมครอน หรือที่เรียกว่า ไมโครสเฟียร์ เป็นผลงานทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบนำส่งยา ซึ่งการวิจัยนี้ เรานำไหมไทยมาใช้ในทางการแพทย์โดยนำมาขึ้นรูปร่วมกับวัสดุธรรมชาติชนิดอื่นๆ เช่น เจลาตินคอลลาเจน และใช้เทคนิคอิมัลชั่นในการขึ้นรูป อนุภาคขนาดไมครอนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การนำไปดูดซับยาต้านการอักเสบเพื่อรักษาโรคข้อเสื่อม โดยการฉีดเข้าไปที่ข้อโดยตรงเพื่อช่วยลดอาการปวดอักเสบ หรือการนำไปใช้เพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งให้เป็นก้อนมะเร็ง 3 มิติ เพื่อใช้ในการทดสอบการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาต้านมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับก้อนมะเร็งจริงมากกว่าการเพาะเลี้ยงแบบ 2 มิติ” ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว

การให้ยารักษาโรคในปัจจุบัน ทั้งรูปแบบการทานยาและฉีดเข้ากระแสเลือดมักต้องมีการให้โดสยาสูง เนื่องจากมีการสูญเสียปริมาณยาตั้งแต่กระเพาะอาหารหรือระบบต่างๆ ในร่างกายระหว่างทางกว่าจะไปถึงอวัยวะเป้าหมาย แต่อนุภาคทรงกลมขนาดไมครอนจะทำหน้าที่ดูดซับตัวยาและฉีดเข้าไปโดยตรงที่อวัยวะเป้าหมายหรือจุดเกิดโรคโดยตรง ช่วยลดปริมาณของยาส่วนเกิน ซึ่งส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวต่อไปว่า “เราออกแบบอนุภาคให้เป็นระบบนำส่ง ที่ควบคุมการปลดปล่อยยา ซึ่งสามารถช่วยลดความถี่ในการรักษา เช่น หากเราต้องทานยาหรือฉีดยา เราต้องทานทุกวันทุกมื้อหรือไม่ได้ฉีดยาแค่เข็มเดียว ด้วยระบบการควบคุมการปล่อยยาจากอนุภาคนี้ จึงทำให้การรักษา 1 ครั้ง สามารถอยู่ได้เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ซึ่งเป็นการเจ็บตัวแค่ครั้งเดียวและลดจำนวนครั้งในการมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย ในขณะที่ประสิทธิภาพในการรักษาต้องดีกว่าวิธีเดิมและลดผลข้างเคียง จากผลการทดลองในสัตว์ยังไม่พบผลข้างเคียงและตัววัสดุมีความปลอดภัย อีกทั้งใช้ควบคู่กับยาที่คุณหมอใช้ในการรักษาอยู่แล้ว ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น”

ถึงแม้ว่าระดับการทดลองยังอยู่ในขั้น “ทดลองในสัตว์” แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่การทดสอบประสบความสำเร็จไปอีกขั้น และดูเหมือนว่ามีความพร้อมที่จะสามารถพัฒนาไปสู่การใช้จริงในมนุษย์ ก็ต้องค่อยดูกันต่อไปว่าอนาคตของวงการแพทย์จะพลิกโฉมไปมากน้อยเพียงใด แต่ในระหว่างนี้ก็ควรมั่นดูแลรักษาสุขภาพ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา : สำนักบริหารวิจัย จุฬาฯ

นวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วย “อนุภาคทรงกลมขนาดไมครอน”