คณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมจัดงานเวิร์คช็อป PREEMPTIVE Advanced Studies Institute: Thailand

ระหว่างวันที่ 5 – 11 มิถุนายน 2562 คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ เรืองรัศมี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา อาจารย์ ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ และ อาจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ได้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อการเรียนรู้และรับมือภัยพิบัติ โครงการร่วมของหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ PREEMPTIVE Multidisciplinary Natural Hazards Engineering Institute Series for Advanced Graduate Students โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก National Science Foundation สหรัฐอเมริกา มีนิสิต นักศึกษาจากทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, University of Connecticut, Southern California University, University of Illinois at Urbana-Champaign, Georgia Institute of Technology, Howard University, University of Rhode Island เป็นต้น

กิจกรรมวันแรกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เป็นการบรรยายเพื่อแนะนำข้อมูลให้กับนิสิต นักศึกษา โดยคณาจารย์ทั้งสี่ท่านได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะวิทยากรบรรยายร่วมกับคณาจารย์จากสหรัฐอเมริกาด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี นำเสนอเรื่อง “Earthquake Disaster and Preparedness in Thailand” รองศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ เรืองรัศมี นำเสนอเรื่อง “Tsunami Disaster and Mitigation” อาจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ นำเสนอเรื่อง “Disaster Management” และ อาจารย์ ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี นำเสนอเรื่อง “Flood and Water Security” ตามลำดับ

เป้าหมายของโครงการคือการฝึกการออกแบบโครงร่างโครงการวิจัยความร่วมมือระหว่างประเทศสำหรับนิสิต นักศึกษา

คณะผู้เข้าร่วมได้เดินทางไปจังหวัดภูเก็ตเพื่อดูงานพื้นที่จริงที่เคยประสบภัยสึนามิปี 2547 มีการเยี่ยมชมอนุสรณ์สึนามิ หอหนีภัยสึนามิ อนุสรณ์เรือ ต.813 และพิพิธภัณฑ์สึนามิ จังหวัดพังงา

เมื่อคณะผู้ร่วมงานเดินทางกลับมากรุงเทพฯ พวกเขาได้นำข้อมุล และความคิดมาอภิปรายเพื่อนำเสนอร่างหัวข้อโครงการวิจัยที่น่าสนใจเป็นรายกลุ่มที่ห้อง iScale คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการนี้ทำให้นิสิต นักศึกษาได้ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิต นักศึกษาจากทั้งสองประเทศ เพื่อให้เกิดแนวความคิดในการลดความเสี่ยงจากภัยสึนามิ