คณะวิศวฯ ให้การต้อนรับการมาเยือนของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและการกีฬา ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเยี่ยมชมการเรียนการสอน การพัฒนานวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยใช้ดิจิตัลเทคโนโลยี ในรูปแบบ Digital Economy Transformation และโครงการ Chula MOOC

วันที่ 17 กันยายน 2562 เวลา 09.00 น. คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์การเรียนรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ ผู้ช่วยคณบดี ได้ให้การต้อนรับ ฯพณฯ ดร.นาต บุญเรือน (H.E. Dr. Nath Bunroeun) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและการกีฬา ราชอาณาจักรกัมพูชา และคณะ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการโครงการพระราชทานความช่วยเหลือราชอาณาจักรกัมพูชา ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งให้เกียรติมาศึกษาดูงานด้านการเรียนการสอน การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาดูงานนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อดูการนำ Digital Transformation และเทคโนโลยีด้าน AI, Big Data, IoT และ Cloud มาสนับสนุนการเรียนการสอน การทำวิจัย และพัฒนานวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการนำงานวิจัยหลายงานมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน รวมไปถึงการจัดตั้งหน่วยงานที่มาสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ เช่น UTC และ Engineering AI Center

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาดูงานการจัดการด้านการเรียนการสอนที่มีการผสานการเรียนรู้แบบ Active เข้ากับการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น Cloud Computing และ AI มาเสริมสร้างการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปให้สอดรับกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับการศึกษาและนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการสนับสนุนการเรียนการสอนที่เปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคของการศึกษา 4.0 ทั้งแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษาอื่น ๆ อีกหลายสถาบันทั่วประเทศ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านการเรียนออนไลน์แก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้างผ่านโครงการ Chula MOOC ซึ่งผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟนของตนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในปัจจุบันมีการลงทะเบียนเรียนในระบบ Chula MOOC แล้วกว่า 2 แสนครั้ง และมีอัตราการเรียนสำเร็จประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับระบบเรียนออนไลน์อื่น ๆ ในโลก

การมาเยือนในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาภาคการศึกษา และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการศึกษาในสถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียล และสถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือ ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้การสนับสนุนของโครงการพระราชทานความช่วยเหลือราชอาณาจักรกัมพูชา ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย