คณะวิศวฯ และสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ จับมือ AEC บ.ที่ปรึกษาชั้นนำ ร่วมลงนาม MOU ทางวิชาการด้านวิศวกรรม

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมชั้นนำของประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ โดย ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ. ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พลโท ดร.สบโชค ศรีสาคร รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล การวางแผน การศึกษา สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรได้ศึกษาและทำงานร่วมกัน อาทิ การจัดหลักสูตร การสัมมนา การฝึกอาชีพให้นิสิตได้ศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานอย่างแท้จริงกับทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของบริษัท บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการศึกษาด้านวิศวกรรมสาขาต่าง ๆ  อาทิ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมขนส่งและจราจร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2456 ได้ผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพมาแล้วกว่า 20,000 คน และ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นศูนย์กลางงานวิจัยและการศึกษาด้านการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า ครอบคลุมรูปแบบทางบก น้ำ ราง อากาศ และท่อ

สำหรับ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศและภูมิภาคอาซียนที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลและเอกชนมายาวนานกว่า 43 ปึ และมีผลงานทั้งโครงการขนาดเล็กและขนาดใหญ่กว่า 400 โครงการ ซึ่งปัจจุบันรับผิดชอบงานออกแบบและควบคุมการก่อสร้างในโครงการภายในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 55 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถไฟ สนามบิน ทางด่วน สะพาน ท่าเรือ และทางหลวง

ดังนั้น การร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 3 ฝ่ายครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพและสามารถนำไปต่อยอดเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศให้มีประสิทธิภาพต่อไป