จุฬาฯ เปิดโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญา ภายในเวลา 6 ปี ป.ตรี แพทย์ – ป.โท วิศวกรรมชีวเวช

ศ. นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าว จุฬาฯ เปิดโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญา ภายในเวลา 6 ปี ป.ตรี แพทย์ – ป.โท วิศวกรรมชีวเวช จัดขึ้น วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 11.00-12.00 น. ณ ห้องเธียเตอร์ ชั้น 1 อาคารหอสมุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ. นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ และรายละเอียดการเปิดโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญานี้ว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรม และสร้างมาตรฐานระดับนานาชาติ โดยนับตั้งแต่ปี 2560 ทางสถาบันได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมุ่งเพิ่มช่วงเวลาที่นิสิตสามารถเลือกเรียนวิชาเลือก วิชาที่ตนเองสนใจได้มากขึ้น เพื่อให้นิสิตค้นพบตัวเอง รวมถึงเสริมสร้างความถนัดในด้านที่ตนเองต้องการ เช่น ด้านวิจัย ด้านบริหาร

และในปี 2563 นี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลง และการเริ่มต้นครั้งใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดโครงการหลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช จุดเด่นคือ บัณฑิตที่จบการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต และ ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาเพียง 6 ปี เป็นหลักสูตรมุ่งผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญทั้งสาขาแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมชีวเวช ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเหมาะกับนิสิตแพทย์ที่มีศักยภาพ และความสนใจด้านวิศวกรรมชีวเวช ต้องการเป็นแพทย์นักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวช ที่สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม ต่อไป

นิสิตในโครงการนี้ จะเรียนรายวิชาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) เช่นเดียวกับนิสิตแพทย์คนอื่น โดยนิสิตสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนรายวิชาการศึกษาทั่วไป วิชาเฉพาะ เพื่อส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียน และ/หรือเลือกเสรีในสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตให้การรับรองได้ตามความสนใจ เพื่อเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโท และเมื่อเรียนรายวิชาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตครบ 120 หน่วยกิต และมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนด จะมีสิทธิ์สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช ที่ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปีได้ จากนั้นนิสิตที่ได้รับการคัดเลือก จะเรียนรายวิชาชั้นปีที่ 4-6 ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตร่วมกับนิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตคนอื่นควบคู่ไปกับการสัมมนา และการทำวิทยานิพนธ์ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ในช่วงเวลาวิชาเฉพาะเพื่อส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียน หรือช่วงนอกเวลา

สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียน จะจัดเก็บค่าเล่าเรียนทั้งสองหลักสูตรในอัตราตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง อัตราการเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียน และเงินเรียกเก็บประเภทอื่น ๆ สำหรับนิสิต ในส่วนของแผนการรับนิสิต โครงการฯ จะคัดเลือก และให้ทุนแก่นิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช 10 คน ต่อปีการศึกษา

ในส่วนของการรับสมัครนิสิตเข้าสู่โครงการ สำหรับนิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปัจจุบันชั้นปีที่ 1 และ 2 คาดว่าจะสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป และในส่วนของผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในโครงการที่เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถสมัครสอบคัดเลือกได้ตามระบบ TCAS รอบที่ 3 โดยสมัครผ่านระบบ TCAS63 ในวันที่ 17-27 เมษายน 2563 โดยรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ อีเมล aamdcu@gmail.com หรือ 02 256 4478 ฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ทางด้าน ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวว่า หลักสูตรสหสาขาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2549 โดยริเริ่มขึ้นจากความร่วมมือหลักระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์

จุดเด่นของหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวชคือ ความร่วมมือที่เข้มแข็งของทั้งสองคณะ ที่ร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยที่ท้าทาย และตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาที่พบอยู่จริงในการแพทย์ในปัจจุบัน นิสิตที่เรียนในหลักสูตรฯ จะมีอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่าน ท่านหนึ่งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และอีกท่านหนึ่งจากคณะแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของเทคโนโลยีการแพทย์ นอกจากนี้ หลักสูตรยังได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์สายสุขภาพอื่น ๆ อีกด้วย อาทิ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ คณะสหเวชศาสตร์ เป็นต้น

หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช ประกอบไปด้วย 6 สาขาวิจัย ได้แก่ สาขา Medical instruments and biosensors, สาขา Biomechanics, สาขา Rehabilitation, สาขา Medical Imaging, สาขา Tissue engineering and Drug delivery system และสาขา Bioinformatics ซึ่งทั้ง 6 สาขาวิจัยนี้ ครอบคลุมเทคโนโลยีการแพทย์ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย วิเคราะห์โรค การรักษาโรค การฟื้นฟูผู้ป่วย รวมถึงการป้องกันการเกิดโรค จะเห็นได้ว่า ทุกศาสตร์ทุกสาขาของแพทย์ ล้วนใช้ศาสตร์วิศวกรรมชีวเวชเข้าไปช่วยพัฒนาได้ทั้งสิ้น

ที่ผ่านมาหลักสูตรเราได้สร้างสรรค์ research innovations จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น medical device, sensor ตรวจวัดค่าต่าง ๆ ที่บ่งชี้การเกิดโรคของร่างกาย ระบบนำส่งยารักษาโรค และอวัยวะเทียม อวัยวะสังเคราะห์ต่าง ๆ

ตัวอย่างผลงานที่เป็น Lab prototypes หรือเป็น certified products ที่เป็นผลงานของหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช ร่วมกับภาควิชาต่าง ๆ ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ได้แก่ โครงเนื้อเยื่อสำหรับการสร้างหลอดเลือด และการสร้างกระดูก, micro needle ที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยยาได้, ไม้เท้าที่มีสัญญาณเสียง แสงและการสั่นเพื่อกระตุ้นการเดินของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และเท้าเทียม ข้อสะโพกเทียมที่มีการออกแบบเหมาะสมสำหรับสรีระผู้ป่วยคนไทย และคนเอเชีย เป็นต้น

ศ. ดร.สุพจน์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามีแพทย์เฉพาะทางเข้ามาเรียนต่อปริญญาโท/เอกที่หลักสูตรเราอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่จบการศึกษาไปแล้ว และที่กำลังศึกษาอยู่ กว่า 20 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านมีโอกาสทำงานวิจัยที่แก้ไขโจทย์ปัญหาที่พบจริงในโรงพยาบาล

สำหรับโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญานี้ เปิดโอกาสให้นิสิตแพทย์ระดับปริญญาตรี ที่มีความสนใจด้านวิศวกรรมชีวเวช สร้างสรรค์ผลงานวิชาการองค์ความรู้วิจัยและนวัตกรรม