วิศวฯ จุฬาฯ ในสื่อ : “หมุนเวียนน้ำในEEC” สู้วิกฤติขาดแคลนด้วยเทคโนโลยี

ปัญหาน้ำขาดแคลน ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการเพิ่มขึ้นประชากร การขยายตัวของเมือง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม น้ำขาดแคลน ไม่เพียงพอกับความต้องการ

สำหรับพื้นที่EECครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีทั้งภาคชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม และคาดการณ์ว่าในอนาคตเมื่อการพัฒนาพื้นที่EECสมบูรณ์แบบ ตามแผนงานของรัฐบาล จะขาดแคลนน้ำไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

จากการรวบรวมข้อมูล การหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่EECชัดเจนว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น เพราะมีผลกระทบกับชุมชนและมักไม่เห็นด้วย อีกทั้งในภาวะแล้งที่ยาวนานก็ทำให้เก็บน้ำได้ไม่เพียงพออยู่ดี จึงต้องหาทางเลือกอื่นๆ ด้วย อาทิ การนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด ซึ่งทำได้แต่มีต้นทุนสูงและราคาแพง

ดังนั้น พิจารณาที่เป็นไปได้ คือ น้ำเสียที่บำบัดแล้ว ซึ่งราคาถูกลงมาก โดยในพื้นที่EECมีน้ำเสียปริมาณมาก ที่มาจากชุมชน อีกส่วนจากน้ำเสียจากสถานประกอบการ สถานบริการ และอุตสาหกรรม

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายใน 20 ปีข้างหน้าในพื้นที่EEC 3 จังหวัด รวมทั้งข้อมูลศักยภาพของการบำบัดน้ำเสีย โดยระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ออกแบบไว้สูงสุด พบว่า ถ้ายังไม่มีการเติบโตแบบEEC จะมีน้ำเสียชุมชนจะประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อมีEECสมบูรณ์แบบ น้ำเสียชุมชนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อรวมกับน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม จะทำให้มีปริมาณน้ำเสียรวมมากกว่า900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เราจึงมีน้ำเสียปริมาณมาก เป็นต้นทุนน้ำเสียจึงมีศักยภาพ

ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่มีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบมากกว่า 75% ของความสามารถในการรองรับน้ำเสียในพื้นที่EECได้แก่ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา (ซอยวัดหนองใหญ่)และระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองแสนสุข (แสนสุขใต้) จังหวัดชลบุรี

จึงเป็นที่มาของโครงการศึกษา “การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC โดย รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead)ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ

การศึกษานี้จะจัดทำร่างระดับคุณภาพมาตรฐานของน้ำรีไซเคิลที่จะนำกลับไปใช้ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร สำหรับเป็นแนวทางให้พื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมในEECเช่น การนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียว) การใช้ชำระชะล้างต่าง ๆ ล้างถนน ลดฝุ่น หรือนำมาเป็นน้ำใช้อื่น ๆ เช่น น้ำหล่อเย็นในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแนวทางที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนในส่วนนี้

ตัวอย่างการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ของต่างประเทศ เช่นที่เมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่น เดิมมีการนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดแต่ต้นทุนสูง สุดท้ายก็เอาน้ำเสียของเมืองมาบำบัดและกรองมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ที่มีคุณภาพดีและขายราคาถูกกว่าน้ำประปา

สิงคโปร์ ก็มีทั้งการนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด และซื้อน้ำจากมาเลเซีย ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนสูง ปัจจุบันสิงคโปร์เตรียมพร้อมและสนใจเรื่องรีไซเคิลน้ำมาก โดยนำน้ำเสียมารีไซเคิลซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลงกว่าการใช้น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเล และใช้เทคโนโลยีในการกรองทำให้ได้น้ำคุณภาพดีที่สะอาดมาก ๆ กลับมาใช้ มีการให้ความรู้กับประชาชนจนได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี และยังส่งกลับไปขายให้กับมาเลเซียอีกด้วย

กรณีจีน ลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำเสียขนาดใหญ่ 5 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่เมืองเทียนสิน โดยรับน้ำทิ้งจากโรงบำบัดน้ำเสียJizhuangzi เดินระบบท่อจ่ายน้ำรีไซเคิล 52 กิโลเมตรไปยังชุมชน สามารถจ่ายน้ำให้กับ 158,000 ครัวเรือน และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยค่าน้ำรีไซเคิลอยู่ที่ 0.3 US dollarต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถูกกว่าราคาค่าน้ำประปา

กรณีนี้ ไทยอาจใช้ต้นแบบของญี่ปุ่นและจีน คือ การรีไซเคิลน้ำเสียมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ขายให้กับแหล่งที่ต้องการซื้อได้เลย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งสนใจ และส่วนบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของเทศบาลบางแห่งก็อยู่ไม่ไกลจากนิคมฯ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำและเอากลับไปขายให้อุตสาหกรรม ชุมชน และภาคเกษตร แต่ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องปลดล็อคกฎหมายหลายส่วนที่ยังเป็นข้อจำกัดในปัจจุบัน

เพราะน้ำทุกหยดควรมีประโยชน์มากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยตอบโจทย์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่รีไซเคิลให้หมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำจึงจะมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน และช่วยเสริมศักยภาพEECให้เป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งความหวังของประเทศได้

โดย…สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649514

รศ. ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

#วิศวจุฬาในสื่อ