จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, M3D Laboratory, สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์เเห่งชาติ (องค์การมหาชน), เเละ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด ร่วมมือจัดทำโครงการ “การฆ่าเชื้อบนปริญญาบัตรสำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยการฉายรังสีเอกซ์ เพื่อป้องกันเเละลดการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อผู้สัมผัสใบปริญญาในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร”
โดยทั่วไป รังสีเอกซ์ (X-rays) เป็นรังสีเเม่เหล็กไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติในการทำลายสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเเละเเบคทีเรียก่อโรค การฆ่าเชื้อด้วยการฉายรังสี ถูกนำไปใช้ในการทำให้เครื่องมือเเพทย์ปลอดเชื้อเเละยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก โดยค่าปริมาณรังสีดูดกลืนที่ใช้ฉายกับใบปริญญาบัตร เป็นค่าปริมาณรังสีดูดกลืนที่สามารถฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เเละไม่มีกัมมันตภาพรังสีตกค้าง
เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโดยการฉายรังสีเอกซ์ ทางทีมวิจัยได้มีการนำเชื้อเเบคทีเรียเเกรมบวก G. Stearothermophilus ที่มีความทนทานต่อการฆ่าเชื้อด้วยรังสีมากกว่าเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) ไปฉายรังสีเอกซ์ในค่ารังสีดูดกลืนที่ 10 kGy* จากผลการทดสอบพบว่าการฉายรังสีเอกซ์สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในหลอดอาหารเลี้ยงเชื้อได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อด้วยรังสีเอกซ์ ทีมวิจัยได้ทดสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการฉายรังสี ในด้านการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสีของปริญญาบัตรและหมึกที่พิมพ์บนใบปริญญาบัตร โดยนำตัวอย่างใบปริญญาทั้งก่อนและหลังฉายรังสี ไปทดสอบการเปลี่ยนแปลงของสีด้วยเทคนิค CIE Lab* ซึ่งทดสอบโดยเครื่องวัดและเทียบสี (Spectrophotometer) จากผลการทดสอบ พบว่า ค่าความเปลี่ยนแปลงของสี หรือ ΔE มีค่าที่น้อยมาก ไม่สามารถสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตาเปล่า
- ปริมาณรังสีดูดกลืน (กิโลเกรย์, kGy) คือ การวัดปริมาณพลังงานรังสีใดๆ ที่วัตถุตัวกลางใด ดูดกลืนไว้ได้เมื่อได้รับรังสี
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.m3dlab.info/
