วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมส่งมอบหุ่นยนต์ปิ่นโตและกระจกสื่อสารทางไกลเพิ่มเติมให้มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อช่วยแพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทีมกลุ่มสตาร์ทอัพ ศิษย์เก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มอบ หุ่นยนต์ปิ่นโต และ กระจก-ระบบสื่อสารทางไกล ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ผ่าน กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ) จำนวน 10 ชุด ทั้งนี้ เพื่อขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานต่อไปยังโรงพยาบาลสมุทรสาคร เพื่อใช้สำหรับโรงพยาบาลสนามที่ ดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เพื่อเป็นการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะต้องมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากในการช่วยเหลือในขณะนี้

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดตั้งโครงการ CU-Robocovid เพื่อสร้างหุ่นยนต์และอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลทั้งประเทศเมื่อต้นปีที่แล้วนั้น ได้ส่งมอบหุ่นยนต์ขนส่งในพื้นที่ติดเชื้อ “ปิ่นโต” และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องรับหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในการระบาดรอบแรกนั้นพบว่าได้รับการประเมินผลจากบุคลากรทางการแพทย์ว่าสามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจของ วิศวฯ จุฬาฯ ที่มุ่งอุทิศองค์ความรู้ที่มีเพื่อช่วยเหลือภาคสังคมในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย ในการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักและร่วมส่งนวัตกรรมต่างๆเพื่อช่วยเหลือสังคมและบุคลากรทางการแพทย์

หุ่นยนต์ปิ่นโตได้รับการพัฒนาโดยทีม CU-RoboCovid ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวฯ จุฬาฯ Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid ได้รับการทดลองจริง เก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงในโรงพยาบาล เพื่อให้ตรงตามการใช้งานและความต้องการมากที่สุด ภารกิจหลักงานของหุ่นยนต์ปิ่นโตคือ ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์แก่คนไข้ โดยการใช้ระบบขับเคลื่อนหุ่นยนต์บนรถเข็นควบคุมทางไกล ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงน้อยลง ลดจำนวนครั้งที่ต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และดูแลความเคลื่อนไหวของคนไข้ได้อย่างใกล้ชิด ลดเวลาต้องทำการเปลี่ยนชุดและลดการใช้ PPE และอุปกรณ์อื่น ๆ จำนวนมาก

ส่วนระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” นั้น เป็นระบบผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19 เสมือนกระจกที่แสดงภาพและเสียงบุคคลในการสื่อสารกันคุณหมอและพยาบาลสามารถติดต่อสื่อสารและสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปใกล้ผู้ป่วยในหอผู้ป่วย ลดอัตราการเสี่ยงติดเชื้อ จากการต้องเข้าไปในหอผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือมากเกินไป ลดจำนวนอุปกรณ์การแพทย์บางส่วน ในการเข้าไปให้บริการคนไข้ในแต่ละโซน จะต้องทำการเปลี่ยนชุด PPE และอุปกรณ์อื่น ๆ จำนวนมาก ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้นและบ่อยขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลดความกังวลของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยลงได้อย่างมาก

รศ. ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ หัวหน้าโครงการ CU-Robocovid และ อ. ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง ผู้ช่วยคณบดี กล่าวเสริมว่าจากที่ทีมงานส่งมอบหุ่นยนต์ปิ่นโตและระบบสื่อสารกระจกไปทั่วประเทศนั้น พบว่าหุ่นยนต์ปิ่นโตและระบบสื่อสารกระจก พิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้จริงมีประโยชน์ลดความเสี่ยงแพทย์พยาบาลในการติดเชื้อ มีขนาดเล็ก สามารถทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ ติดตั้งได้เอง ไม่ต้องติดตั้งระบบใด ๆ เพิ่มเติม เคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้งานได้ง่ายทันที นำไปใช้ในโรงพยาบาลสนามพื้นเรียบได้สะดวก นอกจากการดูแลคนไข้โควิดแล้วสามารถใช้ในกรณีติดเชื้ออื่น ๆ ได้ มีรายงานว่าโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้ใช้หุ่นยนต์ปิ่นโตและกระจกสื่อสารทางไกลในการดูแลคนไข้วัณโรคซึ่งก็เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเช่นกัน นับว่าเป็นหุ่นยนต์ที่เอนกประสงค์และง่ายต่อการใช้งานต่าง ๆ และเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ทีมีบทบาทสำคัญสำหรับการดูแลโรคติดเชื้อในยุค New Normal นี้ ปัจจุบันเราได้ส่งมอบหุ่นยนต์ “ปิ่นโต”ร่วม 200 ตัว และระบบสื่อสารทางไกล “กระจก” ร่วม 1000 ตัว ไป 140 กว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย