เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564 ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program (ILP) เป็นตัวแทนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เข้าร่วมงานแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2564 ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยในงานแถลงข่าวได้มีการนำเสนอผลงานในโครงการ “เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาฟลูออไรด์ปนเปื้อนในน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับพื้นที่ชายขอบ” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. และภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาฟลูออไรด์ในน้ำบาดาลสำหรับบริโภคอย่างยั่งยืน

โดยถ่านกระดูกที่เป็นผลงานจากงานวิจัยในโครงการนี้ ได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ในหอกรองเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำใต้ดินที่มีอัตราการผลิต 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รองรับจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 400 คน ในพื้นที่หมู่บ้านบ้านใหม่ในฝัน ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งประสบปัญหาการปนเปื้อนของฟลูออไรด์ตามธรรมชาติในน้ำใต้ดิน ตลอดจนขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ โรงเรียนบ้านบวกค้าง ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนบ้านห้วยไซ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เพื่อรองรับความต้องการน้ำบริโภคของนักเรียนกว่า 300 คน
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยในการพัฒนาถ่านกระดูกของโครงการ “เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาฟลูออไรด์ปนเปื้อนในน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับพื้นที่ชายขอบ” ได้ถูกเลือกให้ไปนำแสดงในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (16th NSTDA Annual Conference: NAC2021) บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564



