ในหลวง พระราชินี พระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบแก่ สธ. นำไปตรวจเชิงรุก ปชช.กลุ่มเสี่ยง

เมื่อเวลา 18.40 น. วันที่ 18 มีนาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องตรวจวิเคราะห์ด้านอณูชีวโมเลกุล จำนวน 1 คัน

ในโอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เฝ้าฯ รับพระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพิ่มเติม จำนวน 4 คัน รวมทั้งหมด 5 คัน สำหรับใช้ประโยชน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด และการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุกในภาคสนามในการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย

สำหรับรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นรถต้นแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างเพิ่มเติม รวมเป็น 5 คันนี้ นำไปใช้งานควบคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยที่ได้พระราชทานไปแล้ว จำนวน 20 คัน ได้อย่างเหมาะสม สามารถเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายได้อย่างทันท่วงที เพื่อตรวจค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง เป็นการจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโรคให้แคบลง ส่งผลดีต่อการควบคุมโรคโดยส่วนรวม

รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ มีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ มีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร (7 เมตร x 2.4 เมตร) ภายในประกอบด้วย 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิค PCR มีห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมกับเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR cabinet) เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (real-time PCR) วิเคราะห์ได้ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบต่อเครื่อง ตู้แช่แข็ง-20 องศาเซลเซียส ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่งตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน ไมโครปิเปต (micropipette) ระบบยูวีฆ่าเชื้อ ระบบสื่อสารสองทาง ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ
ด้วยสมรรถนะที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษของรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ จึงทำให้สามารถทราบผลการตรวจหาเชื้อได้ภายใน 3 ชั่วโมง โดยไม่ต้องส่งผลกลับไปตรวจที่ศูนย์การแพทย์ หรือห้องปฏิบัติการโรงพยาบาล และมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถตรวจได้ ประมาณ 800-1,000 ตัวอย่างต่อวัน จึงช่วยในการค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรค ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย

ขอขอบคุณที่มา : มติชน
https://www.matichon.co.th/court-news/news_2630272

ทั้งนี้ รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ดำเนินการโดย ผศ. ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และทีมวิจัย