ผลงาน “นวัตกรรมเพื่อสังคม” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างชื่อให้มหาวิทยาลัยไทย ครองอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 23 ของโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย THE Impact Ranking ปี 2021

The Times Higher Education (THE) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำองค์กรแรกและองค์กรเดียวในปัจจุบันที่ประเมินอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (The United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) ประกาศผลการจัดอันดับ THE Impact Rankings ประจำปี 2021 ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก 1,115 แห่ง ใน 94 ประเทศ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครองอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 23 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยไทยเคยได้รับ

โดยคะแนนรวมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ติด Top 4 SDG ในปีนี้ ได้แก่ SDG 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG 9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม) SDG 15 (ระบบนิเวศบนบก) และ SDG 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีส่วนร่วมในการส่งผลงานที่โดดเด่นด้านการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปยังมหาวิทยาลัย จำนวน 3 ผลงาน ดังนี้

  1. Sensor for All ปีที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์กับกรมควบคุมมลพิษ และอีก 7 หน่วยงาน ในการพัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่มีความแม่นยำเทียบเคียงได้กับวิธีการตรวจวัดมาตรฐาน โดยนำข้อมูลประมาณฝุ่น PM2.5 มาคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เพื่อแสดงผลผ่านทางหน้าจอบนตัวเซนเซอร์และเว็บไซต์เพื่อบ่งบอกระดับปริมาณฝุ่นและแนวโน้มที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีการติดตั้งเซนเซอร์ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลในระยะแรก จำนวน 30 จุด และพร้อมขยายจำนวนเซนเซอร์ที่ทำการติดตั้งในปีต่อไปอีก 500 จุดให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับแสดงผลทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ อีกทั้งจะนำข้อมูลปริมาณฝุ่นที่ตรวจวัดได้มาประมวลร่วมกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลจุดความร้อน (Hot Spot) ข้อมูลการจราจร และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า และเป็นข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหา PM2.5 เพื่อสร้างสังคมสุขภาพดีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.chula.ac.th/news/41078/

  1. โครงการวิเคราะห์สถานะของความมั่นคงด้านน้ำ ผลิตภาพจากน้ำ และภัยพิบัติเพื่อใช้ในการจัดทำแผนแม่บทโดยเฉพาะด้านน้ำ โดย ผศ. ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี และคณะผู้วิจัย ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย และทีมที่ปรึกษาจากหลายประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดทำฐานข้อมูลและการประเมินสถานะความมั่นคงด้านน้ำของประเทศไทยที่มีการประสานกับการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ประเด็นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และเสนอแนะแนวทางในการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ ผลิตภาพน้ำ และลดความเสียหายจากภัยพิบัติจากน้ำ รวมถึงพิจารณาประเด็นคุณภาพน้ำ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาเพื่อเสนอแนะกลไกเชิงสถาบันในกระบวนการการส่งเสริมธรรมาภิบาลน้ำ เพื่อมุ่งสู่การจัดการน้ำแบบยั่งยืน

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://project-wre.eng.chula.ac.th/watercu_eng/sites/default/files/02_3W_overall_Piyatida_19Aug2019_presentation.pdf#overlay-context=node/55%3Fq%3Dnode/55

  1. Envi Mission วัฒนธรรมรักษ์น้ำ รุ่นที่ 1 ภายใต้ความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถานีวิทยุจุฬาฯ และบริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมบริษัทในเครือ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และมูลนิธิอีก 6 หน่วยงาน ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนและเยาวชนเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและระบบการจัดการน้ำอย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถนำกลับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนถ่ายทอดให้กับบุคคลรอบข้างภายในโรงเรียน และต่อยอดไปยังบ้านและชุมชนที่ตนอาศัย อันเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อความยั่งยืนในการใช้น้ำและดูแลสิ่งแวดล้อมที่เข้ากับบริบทของพื้นที่และวิถีชีวิตของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.chula.ac.th/news/25839/