ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์และนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนาแบบ Live สด หัวข้อ “ภาวะโลกรวน ป่วนลมหายใจ” ในงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ.เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งจัดโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ ให้ทัศนะว่า ปัญหาสภาพอากาศทั้งการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ทุกคน โดยปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มอื่น ๆ อาทิ การศึกษา สื่อมวลชน และสตาร์ทอัพ ซึ่งแต่ละองค์กรต้องมีบทบาทในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนร่วมกัน โดยการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมและนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีหลักการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมองค์กรแบบมีส่วนร่วม (Cooperate Environmental Management: CEM) เป็นเครื่องมือ
นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ รวมถึง กฟผ. พัฒนานวัตกรรมการตรวจวัดและคาดการณ์คุณภาพอากาศผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Sensor for All ให้บริการข้อมูลสถานการณ์และคาดการณ์คุณภาพอากาศ เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนสามารถวางแผนในทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันและร่วมดูแลสภาพอากาศให้ดีขึ้น อันเป็นการใช้ผลจากงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาร่วมกับการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อประกอบกับการสื่อสารนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รวมถึงการบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง ก็จะช่วยจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ไปจนถึงการขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายในการเป็นสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ในอนาคต
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่
https://mgronline.com/news1/detail/9640000054060
ขอขอบคุณที่มา : ผู้จัดการออนไลน์