ผลงานหน้ากาก CURE Air Sure โดยทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ (MMRI) คณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคเอกชน

รศ. ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า จากผลการทดสอบหน้ากากชนิดนี้ พบว่ามีประสิทธิภาพในการกรองอานุภาคในอากาศ (PFE) สูงกว่า 99% และประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรีย (BFE) ได้ถึง 99.9% และยังมีค่า fit factor สูงถึง 192 คะแนน ซึ่งตามมาตรฐานสากล OSHA : NIOSH กำหนดให้หน้ากาก N95 ต้องมีคะแนน fit factor อย่างน้อย 100 คะแนน ทำให้มั่นใจได้ว่า หน้ากากของเราจะไม่มีการติดเชื้อจากอากาศที่รั่วไหลเข้าสู่หน้ากาก
รศ. ดร.อนงค์นาฏ กล่าวอีกว่า หน้ากาก CURE Air Sure 1 ชุด ประกอบด้วย โครงหน้ากากทำจากพลาสติกและซิลิโคน รวมถึงสายรัด 1 ชิ้น ฟิลเตอร์หรือแผ่นกรอง ที่มีอายุการใช้งาน 1 สัปดาห์ จำนวน 4 ชิ้น ทั้งหมดราคา 400 บาท จากนั้นในเดือนถัดไปสามารถซื้อเฉพาะฟิลเตอร์ 1 ชุดมี 4 ชิ้น เพื่อนำมาเปลี่ยนใช้ในราคา 100 บาท ส่วนตัวโครงหน้ากากนั้นมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี เท่ากับว่า ผู้ใช้งานจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแล้วต่ำกว่า 5 บาทต่อวัน
“โดยเฉลี่ยทั้งปีเราจะเสียเงินค่าหน้ากากประมาณ 1,500 บาทในปีแรก หรือเฉลี่ยไม่ถึง 5 บาทต่อวัน แต่เราได้ใช้หน้ากากในคุณภาพ N95 แต่สามารถพูดได้ชัด หายใจได้สะดวกกว่า” รศ. ดร.อนงค์นาฏ กล่าว
รศ. ดร.อนงค์นาฏ กล่าวด้วยว่า ในระยะแรกชุดหน้ากาก CURE Air Sure จะไม่ถูกนำมาขายปลีก แต่จะใช้วิธีการเปิดรับบริจาค เพื่อนำไปส่งต่อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศที่ถือเป็นด่านหน้าในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิดก่อน
“เรามีความตั้งใจว่าอาจจะยังไม่มีการขายปลีกในช่วงแรก เพราะต้องการส่งอุปกรณ์นี้ไปให้ถึงบุคลากรทางการแพทย์ใช้เป็นหลักก่อน เพราะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ดี ฉะนั้นวิธีคิดตอนนี้ของเราคือ โรงพยาบาลที่มีกำลังทรัพย์ หรือผู้สนใจสามารถนำเงินมาบริจาคเพื่อส่งต่อหน้ากากให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนได้” รศ. ดร.อนงค์นาฏ กล่าว
สำหรับที่มาของโครงการนี้เริ่มต้นจากความต้องการที่จะพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงให้กับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้ในพื้นที่ที่มีความสูง โดยได้รับทุนในการทำวิจัยจากทุนศตวรรษที่ 2 (The Second Cuntury Fund, Chula : C2F) และได้รับความร่วมมือในการพัฒนาหน้ากากจากทีมวิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ รวมถึงภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
“เราได้ไอเดียนี้จากช่วงแรกที่พบปัญหาการขาดแคลนหน้ากาก จึงได้ปรึกษากับผู้บริหารของจุฬาฯ จนได้รับการอนุมัติทุนศตวรรษที่ 2 ต่อมาเราได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนหลายบแห่ง จนสุดท้ายใช้เวลา 1 ปีจนพัฒนาหน้ากากชนิดนี้ได้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้หน้ากากได้ถูกจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย และได้มีการตั้งบริษัทที่ตั้งใจทำให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อนำผลกำไรย้อนกลับไปช่วยเหลือสังคม ส่วนอีก 70% จะนำกลับไปพัฒนาองค์ความรู้ให้จุฬาฯต่อไป” รศ. ดร.อนงค์นาฏ
ส่วนแผนการพัฒนาในอนาคต รศ. ดร.อนงค์นาฏ กล่าวว่า ยังมีการวิจัยและพัฒนาหน้ากากในโครงการนี้อย่างน้อย 3 รูปแบบ ดังนี้
1.ชุดหน้ากาก CURE Air Sure ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า N95 เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
2.ชุดหน้ากากสำหรับคนทั่วไป ที่จะทำให้มีความโปร่งใสสามารถโชว์ปากและจมูกของผู้ใช้ได้ด้วย แต่ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเป็นสำคัญ
3.ชุดหน้ากากผ้าที่จะเน้นไปที่การทำให้กระชับรูปหน้า หายใจสะดวก แต่ยังคงมีความสามารถในการกรองได้เป็นอย่างดี
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.isranews.org/article/isranews/99600-isranews_news.html
ขอขอบคุณที่มา : สำนักข่าวอิศรา