วิศวฯ จุฬาฯ ในสื่อ : จุฬาฯ ผุดไอเดีย “กล่องรอดตาย” ช่วยผู้ป่วยโควิดระหว่างรอเตียง โดย PPTV HD 36

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จัดทำกล่องรอดตาย ต้นแบบช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวที่บ้านระหว่างรอเตียง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต
.
โดย “กล่องรอดตาย” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกล่องต้นแบบที่ผลิตขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวที่บ้านระหว่างรอเตียง ในกล่องประกอบด้วยปรอทวัดไข้ 1 แท่ง เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 1 เครื่อง ยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม 5 แผง ยาฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล 450 มิลลิกรัม 1 กระปุก หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ 1 หลอด บนกล่องจะมี QR code ที่ผู้ป่วยสามารถสอบถามอาการ และทำตามคำแนะนำในคลิปวิดีโอได้
.
ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจุดเริ่มต้นของ “กล่องรอดตาย” เกิดขึ้นจากยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ต้องโทรศัพท์สอบถามอาการผู้ป่วยรายบุคคล ขณะเดียวกันผู้ป่วยบางคนที่อยู่ระหว่างรอเตียงอาจไม่มีความพร้อม หรือไม่ทราบแนวปฏิบัติว่าควรดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไร
.
ซึ่งกล่องรอดตายนี้ทำควบคู่กับรถตรวจเชิงรุกของรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทาน ของ สปคม. ที่ออกตรวจเชิงรุกตามพื้นที่ต่างๆ หากพื้นที่ไหนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่จะแจกกล่องต้นแบบนี้ให้ผู้ป่วยไปดูแลตัวเองก่อนเบื้องต้นระหว่างรอเตียง โครงการนี้ทำมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ผลิตกล่องรอดตายไปแล้วกว่า 1,000 กล่อง และจะทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564)

PPTV PHOTO #รชานนท์อินทรักษา
#PPTVHD36 #กล่องรอดตาย #สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง #คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #โควิด19 #COVID #โควิดวิกฤต #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณที่มา : PPTV HD 36
https://www.facebook.com/617620494922400/posts/6366090413408684/