เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2564 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ สังกัดภารกิจบูรณาการการศึกษา ฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) ผ่านระบบ Microsoft Teams โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี, รองศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ, นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ

ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย ตลอดจนความร่วมมือในการจัดทำโครงการวิจัย โดยการนำองค์ความรู้ด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และความชำนาญด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. มาร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย การพัฒนาหน้ากากผ้าที่สามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 โดยใช้วัตถุดิบจากปิโตรเคมี ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดเชื้อแบคทีเรียได้สูงถึง 99.98% และป้องกันอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน (µm) ได้ถึง 84% ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังจะร่วมพัฒนาระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อโควิดภายในอาคาร การนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาขยะติดเชื้อ พร้อมต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันประเทศในระยะยาว ซึ่งนับเป็นหนึ่งในภารกิจการบูรณาการความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในบริบทสถาบันการศึกษา ผู้ผลิตองค์ความรู้ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการผลิตต้นแบบนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ แก้ปัญหา และพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ


