คณะวิศวฯ จุฬาฯ เปิดตัวหลักสูตรแห่งโลกอนาคต สอนเด็กไทยสร้างเมตาเวิร์สบนโลกเสมือนจริง ผ่านหลักสูตรระยะสั้น “เมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” เปิดกว้างเรียนได้ตั้งแต่เด็กมัธยมไปจนถึงวัยเกษียณ

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เนื่องในวันสถาปนาคณะวิศวฯ จุฬาฯ ครบรอบ 109 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี เปิดมุมมองด้านการศึกษาเทคโนโลยี Metaverse ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการอุตสาหกรรม Metaverse และสังคมยุคดิจิทัลที่กำลังเป็นที่นิยมของสังคมบนโลกเสมือนจริง ผ่านเวทีเสวนา “METAVERSE หลักสูตรสร้างคนผลิตผลงานบนโลกเสมือนจริง” ณ หอประชุมใหญ่ คณะวิศวฯ จุฬาฯ โดยกล่าวถึงมุมมองและความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยี Metaverse ที่ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์มีการเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น ภายใต้โครงการ “Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)” เพื่อพัฒนาทักษะความรู้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้ที่ผู้เรียนสามารถสร้างเมตาเวิร์สและแบบจำลองในโลกเสมือนจริงได้ ผ่านการเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติจริงและทดลองสร้างโมเดลในการสร้างเมืองเมตาเวิร์สบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ PIES (Platform of Innovative Engineering for Sustainability) ที่มีความยืดหยุ่นทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ โดยหลังจบหลักสูตร ผู้เรียนยังได้รับใบรับรองการผ่านหลักสูตรที่นำไปต่อยอดในการประกอบธุรกิจ หรือสะสมหน่วยกิตเพื่อต่อยอดการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability) หรือ หลักสูตร IES ได้ด้วย โดยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่คณะฯ จัดทำขึ้นนี้จะมีความหลากหลายสำหรับผู้เข้าเรียนและเปิดกว้าง สามารถเรียนได้ตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชนที่ชื่นชอบการเล่นเกมส์ และอยากสร้างเกมส์แบบโลกเสมือนจริงที่กำลังนิยมอยู่ หรือจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม Upskill ให้กับตัวเองทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น

โดยในงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับความร่วมมือและได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้าน Metaverse จาก ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล Head of Chulalongkorn University, Technology Center (UTC) หน่วยงานที่สนับสนุนกสร้างนวัตกรรม คุณจตุพร รักไทยเจริญชีพ CEO บริษัท อินโนว่า อินเตอร์แอคทีฟ สตูดิโอ จากภาคอุตสาหกรรม Metaverse คุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค Head of Novel Engine Execution Department บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) คุณธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคุณชญาน์ทิพย์ โลจนะโกสินทร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท U2Pro consulting มาร่วมเปิดมุมมองและประสบการณ์จริงจากหลากหลายแง่มุมในวงการเมตาเวิร์สที่พบว่าในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเองยังมีความต้องการบุคลากรสายงานนี้เป็นจำนวนมาก และเผยค่าตอบแทนในการสร้างเมตาเวิร์สที่ยังค่อนข้างสูงตามความสามารถและประสบการณ์ นับเป็นความท้าท้ายของภาคการศึกษาที่จำเป็นต้องเร่งผลิตนิสิตและเพิ่มทักษะความรู้ให้กับบุคลากรสายงานเมตาเวิร์สให้สามารถรองรับการทำงานและความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตที่คาดว่าจะมีความนิยมเพิ่มขึ้น โดยผู้เรียนจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจตัวเองให้เข้ากับเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ที่จะตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจได้ด้วย

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในหลักสูตร PIES (Platform of Innovative Engineering for Sustainability) สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.eng.chula.ac.th/th/pies

คุณจัตุพร รักไทยเจริญชีพ CEO บริษัท อินโนว่า อินเตอร์แอคทีฟ สตูดิโอ ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล Head of Chulalongkorn University Technology Center (UTC) ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค Head of Novel Engine Execution Department บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) คุณธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์ และคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคุณชญาน์ทิพย์ โลจนะโกสินทร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท U2Pro consulting (เรียงจากซ้าย-ขวา)

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการแสดงนิทรรศการผลงานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. โครงการการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ โดยเป็นการพัฒนา โลกเสมือนในจุฬา (Chula Digital Twins for Autonomous Vehicle) ขึ้นมาเพื่อใช้ทดสอบการวิ่งของรถไร้คนขับก่อนการทดลองที่สถานที่จริง

2. ระบบฝาแฝดดิจิทัล โรงไฟฟ้าเขื่อนท่าทุ่งนาบนโลกเสมือนจริง

หน่วยวิจัย WiCES คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พัฒนาระบบฝาแฝดดิจิทัลของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ณ เขื่อนท่าทุ่งนา ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคคลากรในเขื่อนตามนโยบายเข้าพัฒนาสู่ยุคดิจิทัลของหน่วยงาน มีการสร้างแบบจำลองสามมิติของเขื่อนท่าทุ่งนาสำหรับโลกเสมือนจริงเพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการปฏิบัติงานของโรงไฟฟ้า ใช้ในการควบคุมดูแลปฏิบัติการภารกิจภายในเขื่อนได้โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่รองรับอุปกรณ์ไอโอที และหุ่นยนต์ตรวจสภาพโรงงานแบบอัตโนมัติ และยังใช้ในการท่องเที่ยวเชิงความรู้ให้ผู้เข้าชม ซึ่งสื่อนี้จะช่วยอบรมบุคลากรหรือนิสิตนักศึกษาที่มีความสนใจเกี่ยวกับวิศวกรรมเขื่อนและการผลิตกระแสไฟฟ้า

3. แบบจำลองสามมิติของหอประวัติจุฬาฯ ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง

คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยหน่วยวิจัย WiCES ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันไทยศึกษาในพัฒนาสื่อเพื่อการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน เป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อดำรงคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทีมวิจัยได้สร้างแบบจำลองสามมิติของหอประวัติจุฬาฯ สำหรับการใช้เป็นฉากหลักในการนำเสนอ คล้ายเป็นลักษณะพิพิธภัณฑ์บนโลกเสมือนจริง ประกอบด้วยรายละเอียดภายนอกและภายในของหอประวัติจุฬาฯ

ปัจจุบันกำลังพัฒนาระบบเมตาเวิร์สสำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในโลกเมตาเวิร์สนั้นจะประกอบไปด้วยแบบจำลองสามมิติของแต่และอาคารภายในมหาวิทยาลัยที่ถูกจำลองขึ้นมาจากโลกจริง โดยจะเปิดให้นิสิตและบุคลากรสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ในโลกเสมือนจริง ผู้ใช้งานสามารถออกแบบอวาตาร์หรือตัวละครของตนเองได้อย่างอิสระ ภายในโลกเสมือนนี้ผู้ใช้สามารถพูดคุยสนทนาได้ผ่านระบบวิดีโอคอลโดยเลือกได้ว่าจะเปิดกล้องให้ผู้อื่นเห็นหน้าตาหรือไม่

4. เกมส์เก็บผักและผลไม้บนโลกเสมือนจริงสำหรับบำบัดผู้สูงวัยที่มีภาวการณ์รู้คิดบกพร่องเล็กน้อย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยหน่วยวิจัย WiCES ร่วมกับศูนย์ดูแลสภาวะสมองเสื่อม (Dementia Day Center) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาติไทย ได้บูรณาการนำเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality (VR) มาประยุกต์ใช้กับงานด้านการแพทย์ ในการสร้างเกมส์ในโลกเสมือนจริงสำหรับบำบัดผู้สูงวัยที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยให้สามารถชะลอการดำเนินของโรคภาวะการรู้คิดถดถอยที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ในอนาคต โดยในเกมส์ได้มีการจำลองสถานการณ์เสมือนว่าผู้เล่นอยู่ในแปลงผักทำหน้าที่เก็บพืช ผัก และผลไม้ตามคำเป้าหมายที่เกมส์กำหนด ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการรู้คิดด้าน ความจำ (Memory) ให้กับผู้เล่นและทดสอบประสิทธิภาพการบำบัดการรู้คิดซึ่งประเมินผลสัมฤทธิ์ของการฝึกการรู้คิดในรูปแบบของคะแนนที่ผู้เล่นได้รับ ทั้งนี้จะได้มีการทดลองทดสอบกับอาสาสมัครภายใต้ความ ร่วมมือและดูแลอย่างใกล้ชิดของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาติไทย

รับชมงานเสวนาได้ที่

https://www.facebook.com/ChulaEngineering/videos/331601719050608/