พิธีส่งมอบฝายวิศวพัฒน์ 5 ณ ฝายห้วยต้างฮ้อ จังหวัดน่าน

เมื่อวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2565 นิสิตค่ายวิศวพัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เดินทางไปทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน โดยได้ทำการทดสอบระบบปั๊มน้ำโซล่าเซลล์สำหรับดึงน้ำเพื่อใช้ในแปลงเกษตร ได้ทำการสำรวจข้อมูลของชาวบ้านสมาชิกกลุ่มน้ำเพี้ยโมเดลทั้งแปลงต้นแบบ และแปลงขยายผล เพื่อนำมาสรุปเพื่อต่อยอดการทำกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ต่อไป

ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565  มีพิธีส่งมอบฝายวิศวพัฒน์ 5 ณ ฝายห้วยต้างฮ้อ โดยฝายดังกล่าวได้ดำเนินการสร้างในช่วงเดือนมกราคม 2565 ในพิธีส่งมอบฝาย นำโดย ผศ. ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ  รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ นิสิตค่ายวิศวพัฒน์ ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนบริษัท SCG โดยมี นายนพพร เรืองสว่าง นายอำเภอนาน้อย นายฤทธา ทาใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ หน่วยงานท้องถิ่นและชาวบ้านรับมอบฝายดังกล่าวเพื่อใช้ในสาธารณประโยชน์ของชุมชน และได้ร่วมปลูกต้นทุเรียนในไร่ของเกษตรกรในพื้นที่

กล่าวคือชาวบ้าน บ้านเชตะวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน แต่เดิมส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรกันมารุ่นสู่รุ่น แต่ด้วยลักษณะของปริมาณน้ำฝนที่ไม่เอื้อต่อการเกษตรมากนักคือ ช่วงหน้าแล้งจะแล้งหนักและกินเวลานาน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงสามารถปลูกได้เพียงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ทนแล้ง แต่มีราคาต่ำ นอกจากนี้ด้วยความที่ปลูกได้เพียงข้าวโพดทำให้ชาวบ้านต้องบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น การใช้ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงที่ทำให้ดินเสีย และการเผาซังข้าวโพด

จากปัญหาที่กล่าวมาจะเห็นว่าปัญหาที่เป็นแกนหลักของเรื่องนี้คือปัญหาการขาดแคลนน้ำ  ซึ่งปัญหานี้จะสามารถแก้ไขได้โดยการทำฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง

โดยตั้งแต่ปี 2561 – 2564 ค่ายวิศวพัฒน์ได้ทำการลงพื้นที่ต่อเนื่องและได้สร้างฝายกักน้ำ ฝายดักตะกอน ฝายน้ำบริโภคและมีการต่อท่อเข้าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นระยะทางร่วม 1.4 กม. ซึ่งจากการทำฝายดังกล่าวให้กับพื้นที่ แต่เดิมชาวบ้านปลูกข้าวโพด 100 %  จนปัจจุบันการใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลง โดยชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกโดยหันมาปลูกไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน  โกโก้ อินทผาลัม ฯลฯ