วิศวฯ จุฬาฯ เดินหน้าเป็นหน่วยงานกลางประสาน 8 ธุรกิจระดับประเทศจัดตั้ง Thailand CCUS Consortium

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบของการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อนซี่งเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

หนึ่งในทางออกสำหรับวงการอุตสาหกรรมทั่วโลกคือการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการดักจับ CO2 แล้วนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินแบบถาวร (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (Carbon Capture and Utilization: CCU) ซึ่งแนวคิด CCUS กำลังได้รับแรงขับเคลื่อนและสามารถประยุกต์ใช้ได้ในกระบวนการอุตสาหกรรมหลากหลายที่กำลังปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงถือเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการลดการปล่อย CO2 และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต

ประเทศไทยให้ความสนใจและตื่นตัวในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS เป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา เช่น กลุ่ม ปตท. นำร่องศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบ CCS Hub Model ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้นำร่องศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทยที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย อีกด้วย

การที่จะสามารถทำการวางแผนตลอดจนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน CCUS ได้นั้น ต้องอาศัยข้อมูลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศไทย จากผู้ผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สร้าง CO2 และมีโอกาสที่จะกับเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์โดยผ่านกระบวนการและเทคโนโลยี จนถึงหน่วยงานที่สามารถวิจัยและสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อดักจับ กักเก็บ และ แปรรูป CO2 เช่นมหาวิทยาลัยและองค์กรทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนภาครัฐผู้วางนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งในวันนี้ได้เกิดการจัดตั้ง Thailand CCUS Consortium ขึ้นโดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน รวบรวมข้อมูลตลอดจนร่วมวางแผนและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน CCUS ให้กับประเทศไทย โดยมีหน่วยงานเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศเข้าเป็นสมาชิกร่วม Consortium ดังต่อไปนี้

กลุ่มอุตสาหกรรม Oil&Gas : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน : บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

กลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์ : บริษัท เอส ซี จี ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน)กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก : บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)

และมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรสาธารณะเป็นที่ปรึกษาของ Consortium ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่า “พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี CCUS นับเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยีทางด้าน CCUS นับเป็นเรื่องที่ใหม่มากทั่วโลกและประเทศไทยเองก็มีโอกาสสูงในการสร้างเทคโนโลยีทางด้านนี้ได้เท่าทันต่างประเทศซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำโดยศูนย์ BCGeTEC ภาควิชาวิศวกรรมเคมีจึงได้ประสานงานกับหน่วยงานชั้นนำในประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน 12 องค์กรจัดตั้งความร่วมมือในนาม CCUS Consortium ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการก้าวเดินไปสู่การนำเอา CO2 ซึ่งเดิมถูกมองว่าเป็นเพียงมลพิษ มาแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ กล่าวคือเป็นเทคโนโลยีในการนำของเสียมาสร้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางด้านการพาณิชย์ในขณะเดียวกันยังเป็นการขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย ขณะนี้ภายใต้ CCUS consortium สมาชิกได้ร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และจุฬาฯจะเริ่มต้นโครงการการสาธิตเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ผ่านความร่วมมือกับสมาชิกในลำดับต่อไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทำงานและนักวิจัยจากศูนย์ BCGeTEC ได้เสร็จสิ้นการเดินทางเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย 7 แห่งที่อังกฤษ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคทั้งสามด้าน ได้แก่ CCUS, Blue & Green Hydrogen production และ Energy storage ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของ Thai-UK world class university consortium โดยได้รับโดยการสนับสนุนจาก British Council และที่สำคัญคือ คณาจารย์นักวิจัยของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานจริงทางด้าน CCUS และอุตสาหกรรมพลังงานและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น เทคโนโลยีการผลิต Hydrogen การผลิตแบตเตอรี่จาก zinc การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าและโครงการอื่น ๆ อีกมาก
ซึ่งในงาน Future Energy Asia 2022ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคในสัปดาห์นี้ ทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ และหน่วยงานองค์กรสมาชิก CCUS Consortium จึงได้ถือเป็นโอกาสอันดีในการประกาศถึงความร่วมมือที่เป็นต้นแบบในการร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และจุฬาฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิชาการในการเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต ซึ่งนอกจากนี้แล้วทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ ยังได้นำข้อมูลและต้นแบบเครื่องมือต่าง ๆ มานำแสดง เช่น โครงการ Crystallite ซึ่งสามารถเปลี่ยน CO2 เป็นคาร์บอนของแข็งที่มีมูลค่าสูง เช่น เพชร และต้นแบบแบตเตอรี่ zinc เพื่อใช้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าระดับอุตสาหกรรม ตลอดจนโครงการด้านการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงมานำแสดงในงานอีกด้วย”

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน ไทยออยล์จึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในโรงงานของกลุ่มไทยออยล์อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และเมื่อเร็วๆ นี้ ไทยออยล์ ยังได้เริ่มโครงการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตสารประกอบอิเล็กโทรไลต์สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบ ถือเป็นตัวอย่างของการนำก๊าซเรือนกระจกมาใช้ประโยชน์และลดปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ ไทยออยล์มุ่งสู่การเป็น net zero ภายปี 2060”

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ได้กล่าวว่า “บีไอจี (BIG) ในฐานะผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมและมุ่งเน้นทางด้าน Climate Technology มองว่าการพัฒนา CCUS เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย จะต้องมีการพัฒนาระบบ CCUS ให้สามารถรองรับกับการผลิต low carbon Hydrogen ให้ได้ เนื่องจาก Hydrogenถือเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงทางเลือกในประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้และใน CCUS Consortium ทางBIGจะเป็นผู้สนับสนุนก๊าซHydrogenให้การวิจัยเกิดขึ้นได้ และบริษัทแม่ของบีไอจีจากสหรัฐอเมริกามีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับ CCUS แล้วทั้งที่ Texas และ Louisiana แล้วเช่นกัน”