วิศวฯ จุฬาฯ ในสื่อ : หุ่นยนต์ ‘Walkie’ ดังกระหึ่ม วิศวฯ จุฬาฯ คว้ารองแชมป์โลก โดย The Sharpener

วิศวฯ จุฬาฯ ในสื่อ : หุ่นยนต์ ‘Walkie’ ดังกระหึ่ม วิศวฯ จุฬาฯ คว้ารองแชมป์โลก

วิดีโอสัมภาษณ์ https://youtu.be/ppruC-n5yk4


เมื่อประเทศไทยอยู่ในยุคสมัยแห่งสังคมผู้สูงวัยมาระยะหนึ่งแล้ว จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะได้เห็นตลาดสินค้าและบริการขานรับและพุ่งเป้าใส่ใจไลฟ์สไตล์คนสูงอายุ หรือกลุ่ม Eldery Care ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นความพยายามของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่โดดลงมาชิงชัยแข่งกันปักธงในตลาดนี้โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิต “หุ่นยนต์” เร่งพัฒนานวัตกรรม ปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาประยุกต์เอื้อต่อการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเฉพาะตัว เข้าตำรา “คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ” เพราะคนตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เป็นลูกหลานหามาให้ไว้ใช้งานด้วยความห่วงใย หลายครอบครัวจึงกำลังมองหาหุ่นยนต์มาเป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลผู้สูงวัยในบ้าน
ไม่เพียงบริษัทระดับโลกเท่านั้นที่กำลังแข่งขันพัฒนาหุ่นยนต์ แต่ในระดับผู้พัฒนาระดับจูเนียร์ลงมาอย่าง

กลุ่มนิสิตนักศึกษาทั่วโลกเองก็ทำได้เก่งกาจไม่แพ้กันเลยทีเดียว ล่าสุดกับการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติในรายการที่ใหญ่ที่สุดในโลก “RoboCup@Home 2022” ที่เวียนกลับมาจัดที่ประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2565 ทีมหุ่นยนต์สัญชาติไทยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้แสดงศักยภาพความเก่งกล้าสามารถในด้านนี้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งโลก โดยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งมาครองได้สำเร็จ The Sharpener, Sharpen your SDG จึงพลาดไม่ได้ที่จะพาทุกท่านมารู้จักกับ “น้องเอิร์ธ ธนโชติ” หัวหน้าทีม EIC Chula ผู้พัฒนาหุ่นยนต์น้อง ‘Walkie’ จนดังกระหึ่มโลก
ธนโชติ สรรพกิจ หรือ เอิร์ธ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าชมรมหุ่นยนต์แห่งวิศวฯ จุฬาฯ (EIC Chula) กล่าวว่า “ทุกวันนี้ประเทศไทยและหลายประเทศในโลกได้เริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบแล้ว คนแก่คนชราที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ก็มีเยอะขึ้นมาก ยกตัวอย่างใกล้ตัวเลยเช่นคุณยายผมที่ไปไหนต้องมีคนดูแลไปด้วย ถ้าคุณยายของผมมีหุ่นยนต์ที่ช่วยพยุงเวลาเดิน ช่วยยกอาหารมาเสิร์ฟ หรือ แม้แต่ช่วยทำงานบ้านต่าง ๆ คุณยายคงสะดวกสบายมากกว่านี้ และอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายจ้างคนดูแลไปได้เยอะเหมือนกัน”

เมื่อได้คุณยายมาเป็นแรงบันดาลใจ น้องเอิร์ธจึงได้ร่วมกันกับเพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้องในชมรมเริ่มคิดและพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ “ผมและทีมเราจึงคิดสร้างหุ่นยนต์บริการในครัวเรือน หรือ domestic service robot ชื่อว่าน้อง ‘Walkie’ ที่สามารถทำงานบ้านได้ ยกข้าวของเครื่องใช้ได้ มี AI ที่ฉลาดทำให้รู้ว่าของต่าง ๆ ในบ้านอยู่ตรงไหน สามารถเดินไปห้องต่าง ๆ ได้อย่างอัตโนมัติ และเราสามารถพูดคุยกับน้อง Walkie ได้ด้วย” น้องเอิร์ธเล่าพร้อมกับรอยยิ้ม

จากจุดเริ่มของการสร้างหุ่นยนต์ Walkie สู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้คนไทย กับการกลับมาลงชิงชัยในสมรภูมิแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกสนามนี้อีกครั้งในนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“แต่ก่อนชมรม EIC เคยอยู่ในยุครุ่งเรืองที่พี่ ๆ เราเคยได้แชมป์โลก RoboCup มาเหมือนกันในปี 2008 ตอนนั้นเราสร้างหุ่นยนต์เตะบอลกับหุ่นยนต์กู้ภัย แต่หลังจากนั้นก็ห่างหายไปเพราะขาดคนสานต่อ ในปีที่ผ่านมาเราจึงฟื้นฟูชมรมกลับมาใหม่ โดยเริ่มโปรเจค นี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จากนั้นก็ได้ชวนเพื่อน ๆ น้อง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ จนตอนนี้มีทั้งหมด 50 กว่าชีวิต มันเหมือนกับทำให้ชมรมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แล้วเราก็ได้สร้างน้อง “Walkie” จนสมบูรณ์ที่จะนำไปแข่งในงาน RoboCup 2022 ผลสรุปว่าทีม EIC Chula ได้คว้าอันดับที่สองของโลกมาได้ในรายการ RoboCup@Home Open Platform League เป็นรางวัลที่น่าภูมิใจมากครับสำหรับปีแรกที่เรากลับมา และทางทีมสัญญาว่าจะพยายามต่อไป ในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปด้วยครับ”

และแน่นอนว่าทุกความสำเร็จย่อมมีแรงสนับสนุนคอยผลักดันเป็นดั่งลมใต้ปีกให้ทะยานสู่ฝั่งฝัน ทีม EIC Chula ก็เช่นกัน ในเรื่องนี้น้องเอิร์ธ เปิดเผยว่า
“การกลับมารวมตัวกันของพวกเราวิศวฯ จุฬาฯ ต้องอาศัยการรวมใจกันของเพื่อนๆ น้อง ๆ และที่สำคัญเลยคือเราได้ พี่ ๆ นิสิตเก่ากลับมาให้แนวทาง คอย Guide & Gear ให้ และยังได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ หรือ สวจ. รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ที่ได้สนับสนุนให้เงินมาสร้างน้อง Walkie ตัวนี้

ทั้งนี้ชมรมเราก็ไม่ได้จะมุ่งแต่งานแข่งนี้งานเดียว ยังมีหุ่นยนต์และทีมงานที่พร้อมลงแข่งในอีกหลายรายการ เช่น CRU Robot Games, PLC Competition เป็นต้น นอกจากนี้ ในชมรมเรายังจัดเวิร์คช้อปกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้น้อง ๆ ที่ยังไม่มีพื้นฐาน หรือบางคนที่มีพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว ได้มาสนุกกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ กับพวกเรา EIC”

ทิ้งท้ายก่อนจากกัน หัวหน้าทีม EIC Chula ยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ในรุ่นราวคราวเดียวกันที่มั่นใจในศักยภาพของตนเองว่า “ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราจะอยู่กับมันได้นาน และเราจะพยายามทำมันไม่ว่าจะเจอปัญหาเยอะขนาดไหน ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็สามารถมีนวัตกรรมเจ๋ง ๆ และไม่จำเป็นต้องซื้อหุ่นยนต์จากต่างประเทศที่มีราคาแพงหากเราทำเองได้ เพียงเรามี know how อยู่กับตัว ก็อาจทำให้ต้นทุนไม่สูงได้ ในอนาคตผมก็อยากเห็นทั้งคุณยายของผม และคนชราในแต่ละบ้านจะได้มีหุ่นยนต์ไว้คอยเคียงข้างแน่นอนครับ”

ขอขอบคุณที่มา : The Sharpener