วิศวฯ จุฬาฯ สาธิตรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ และผลลัพธ์จากโครงการ การทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ

หลังจากที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดตัวแพลตฟอร์มวิจัยและทดสอบระบบรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ (Autonomous Shuttle pod) โดยนำเทคโนโลยี CAV ที่เห็นในต่างประเทศมาพัฒนาและทดสอบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในวันที่ 15 กันยายน 2565 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ได้จัดสาธิตการทำงานของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ ที่พัฒนาบนแพลตฟอร์มวิจัยระบบขับขี่อัตโนมัติขึ้น โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี ร่วมกับคณาจารย์ในคณะฯ นักวิจัยและแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายนอกเข้าร่วมในงานสาธิตนี้ โดยมีการสาธิตและแสดงผลลัพธ์จากโครงการ การทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ ดังนี้
1) การสาธิตการวิ่งของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ และการสร้างแผนที่ความละเอียดสูง (HD Map)
3) การพัฒนาและสาธิตระบบตรวจสอบการหลับในของผู้เฝ้าระวังระบบขับขี่อัตโนมัติ (Safe driver monitoring and drowsiness detection) ระบบเฝ้าระวังผู้โดยสาร (Passenger monitoring) และแดชบอร์ดการจัดการ (Management dashboard)
4) การพัฒนาระบบฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twin) สำหรับการจำลองการทดสอบรถไร้คนขับในสภาพแวดล้อมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5) การทดสอบการสื่อสารด้วยระบบ 5G ของรถไร้คนขับ

โครงการการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อทดสอบการใช้งานรถไร้คนขับต้นแบบภายในพื้นที่ที่กำหนดผ่านการสื่อสาร 5G ทดสอบเก็บข้อมูลการทำงานพื้นฐาน ความสามารถของระบบต่าง ๆ ทดสอบการสื่อสารระหว่างรถไร้คนขับกับเครือข่าย 5G และ แสดงกรณีการใช้งาน (Use case) ของเทคโนโลยี 5G โดยเป็นความร่วมมือของคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOBI) และมีบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ร่วมในการทดลองการใช้งานระบบเครือข่าย 5G

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงการสาธิตครั้งนี้ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์และศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOBI) มุ่งหวังให้แพลตฟอร์มรถไร้คนขับที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้ เป็นแพลตฟอร์มเพื่อให้นักวิจัยจากส่วนต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัยและพัฒนา อันจะเป็นการขยายผลการพัฒนาเทคโนโลยีและทดสอบกรณีการใช้งาน (Use case) ของรถไร้คนขับเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้บริโภคและผู้ใช้ท้องถนนในอนาคต และเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีรถไร้คนขับนี้มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ในประเทศไทยต่อไป