วิศวฯ จุฬาฯ จับมือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนชั้นนำระดับชาติลงนามปฏิญญาความร่วมมือการร่วมผลิตคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ภายใต้ข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox)

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน นำโดยคุณวชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณวรรณา ดุลยาสิทธิพร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย  คุณอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามในปฏิญญาความร่วมมือการร่วมผลิตกำลังคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน  เพื่อให้การผลิตกำลังคนตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงาน โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการร่วมลงนามปฏิญญาความร่วมมือฯ และมอบนโยบายเกี่ยวกับนโยบายด้านการพัฒนากำลังคนและการสร้างความเป็นเลิศ ที่มุ่งสร้างกำลังคนที่มีสมรรถะสูงให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการอย่างเร่งด่วน และต้องมีคุณภาพ

​ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทันกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงการจัดการหลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการบูรณาการมากขึ้น ให้ผู้เรียนสามารถได้เรียนรู้พื้นฐานและเรียนรู้ต่อยอดได้ตลอดเวลา ซึ่งภายใต้นโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ sandbox นี้ ทำให้เห็นโอกาสของความต้องการบุคลากรด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความขาดแคลนอย่างมากในตลาดแรงงาน โดยการจัดการศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Bachelor of Engineering in Computer Engineering and Digital Technology) ที่แตกต่างไปจากการเรียนตามหลักสูตรทั่วไปนี้ถือเป็นครั้งแรกในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาภายใต้ Sandbox ที่คณะฯ มองตนเองว่าเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ต้องปรับตัวให้เกิดความแตกต่าง และตอบโจทย์ของโลกยุคใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีทักษะที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และมีความสามารถในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง  รวมจำนวนตลอดระยะเวลาโครงการ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตามความต้องการของประเทศ

หลักสูตรวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Computer Engineering & Digital Technology เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 3 ปีครึ่ง ที่มุ่งสร้างผลสัมฤทธิ์ทั้ง hard skills และ soft skills ในตัวบัณฑิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยคณาจารย์คุณภาพสูง เทคโนโลยีทางการศึกษา และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งตลอดหลักสูตร ผ่านวงรอบของการเรียนและการทำงานจริงในสถานประกอบการที่มีความต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ โดยเริ่มจากโครงงาน การร่วมสอน และการฝึกงาน ส่งผลให้สามารถผลิตบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าไว้ว่าหลักสูตรนี้จะเปิดรับนิสิต 300 ที่นั่งต่อปี และเริ่มรับนิสิตรุ่นแรกในปีการศึกษา 2566 นี้ ผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย TCAS รอบที่ 1-3

​คุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย  ผู้แทนภาคเอกชน กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันองค์กรภาคเอกชนกำลังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญการเพิ่มศักยภาพบุคลากรและความสามารถในการแข่งขัน การลงนามปฏิญญาความร่วมมือการร่วมผลิตคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาในวันนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนไทยได้ร่วมกันสร้างแรงงานด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และดิจิทัล เพื่อสนองตอบและที่ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง และยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่ตรงตามความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และยังได้ผลักดันให้เกิดแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาปัจจุบัน ผ่านการจัดการศึกษาหลักสูตร Sandbox

​ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เล่าถึงที่มาว่า ในยุคก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ต้องการกำลังคนที่มีความรู้ในหลากหลายด้าน ทั้งด้านระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ เครือข่ายคลาวด์คอมพิวเตอร์และความปลอดภัยในเครือข่าย หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล มีความสำคัญอย่างยิ่ง รองรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลสมัยใหม่ และสามารถผสมผสานกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ให้กับสถานประกอบการ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จึงได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาตามนโยบายของกระทรวง อว. และเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงจำนวนมากได้ตามความต้องการของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา จัดการเรียนการสอนด้วยคณาจารย์คุณภาพสูง และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมชั้นนำ  ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างโปรแกรมประยุกต์ของระบบซอฟต์แวร์ ระบบเชิงเลข และการประมวลผลสารสนเทศ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ปัญหาในสาขาอาชีพอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หลักสูตรนี้ยังสามารถทำให้นิสิตมีทักษะในทุกช่วงชั้นปี ตั้งแต่ปีที่ 1 สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานกับองค์กรภาคเอกชนที่มีความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรูปแบบการฝึกงานและสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้แก่องค์กรคู่สัญญา และเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่นิสิตจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ณ สถานที่จริงและสถานการณ์จริงด้วย

หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลต่างจากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ปกติ ที่จะเน้นที่การฝึกงานและทำงานจริง โดยจะมีการฝึกงานทุกภาคฤดูร้อนและ ปี 4 เทอม 1 มีการปรับปรุงวิชาพื้นฐานให้เน้นเฉพาะเนื้อหาที่จำเป็น และเพิ่มวิชาทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรม เช่น Data Science, AI, Cloud, IoT, Agile Software Development และวิชาเลือกที่สอนโดยบริษัทภาคเอกชนชั้นนำ คาดว่าจะเปิดรับสมัครนิสิตใหม่ในปีการศึกษา 2566 ผ่านระบบ TCAS ได้ โดยมีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยและค่าใช้จ่ายเหมือนหลักสูตรภาษาไทยภาคปกติ และดำเนินการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาที่มีการผสมผสานการเรียนแบบออนไลน์และออนไซต์เข้าด้วยกัน  โดยมีเป้าหมายด้านสัมฤทธิผลในการพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

​ทั้งนี้ สำหรับปีการศึกษา 2566 นี้ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครนิสิตระดับปริญญาตรีทั้งสองหลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของเดิม และหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลนี้พร้อมกัน เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ขาดแคลนอย่างมาก

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์: https://www.cp.eng.chula.ac.th/cedt
facebook: facebook.com/cedtengchula