เชลล์ฮัทฯ จับมือ จุฬาฯ นำ “เชลล์ดอน” บรรจุลงคอร์สออนไลน์ สร้างความตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน“Shelldon ชวนน้องรักษ์โลก เรื่องมลพิษทางทะเล” ด้วยการนำคอนเทนต์ซีรี่ส์แอนิเมชั่น เชลล์ดอน เข้ามา เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่ให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ยอดนิยมอย่าง CHULA MOOC โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการทำให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ ตึกเพกาซัส ชั้น 5 อาคาร 101 True Digital Park เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565

“เชลล์ดอน” เป็นแอนิเมชั่นฝีมือคนไทย ที่สร้างโดย ดร. ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ CEO & Founder บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด  ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในประเทศไทย และได้รับการจัดฉายทางช่อง NBC ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกว่า 180 ประเทศทั่วโลก พร้อมถูกแปลไปกว่า 35 ภาษา ด้วยตัวละครที่น่ารัก เนื้อเรื่องที่สนุกสนาน พร้อมสาระความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และยังคงอยู่ในใจผู้ชมมาตลอด 14 ปี พร้อมกับการได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นทูตสิ่งแวดล้อมที่ยังคงส่งต่อความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านโครงการ CSR ไม่ว่าจะเป็น Shelldon School Tour หรือ Shelldon 3E ที่พัฒนาคอร์สออนไลน์ด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะเหตุนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรู้ และสามารถจะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการนำเสนอชุดความรู้ผ่านเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆของซีรี่ส์แอนิเมชั่นเรื่องเชลล์ดอน ซึ่งพัฒนาโดยคณาจารย์นักวิชาการระดับประเทศและระดับโลก และนำเข้ามาเป็นหนึ่งในวิชาเรียนด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ยอดนิยมอย่าง CHULA MOOC จนเกิดเป็นโปรเจกต์ Shelldon ชวนน้องรักษ์โลก เรื่องมลพิษทางทะเล ขึ้นนั่นเอง

พร้อมกันนี้ ดร.ชวัลวัฒน์ ในฐานะของผู้สร้าง Animation Shelldon เผยว่า ตนเองมีความยินดีอย่างยิ่งที่เรื่องราวของเชลล์ดอน โดยเฉพาะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นชุดความรู้ตามหลักวิชาการโดยคณาจารย์ นักวิชาการระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งมีการนำเสนอได้น่าสนใจ สนุก และเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการดูและรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต

นอกจากนี้ ในตัวเอกสารประกอบการเรียนรู้ ทางทีมงานได้มีการออกแบบเนื้อหาและแบบฝึกหัดเพื่อเข้าถึงเด็กเล็กที่จะสามารถเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ใหญ่ภายในครอบครัวได้ หรือเด็กโตที่จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่ง ดร.ชวัลวัฒน์ หวังว่าโครงการ Shelldon 3E จะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ผ่านการสร้างความรู้ ความตระหนัก และความรักในท้องทะเล เพื่อที่จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจิตสาธารณะในการร่วมดูแลรักษาท้องทะเลของพวกเราให้มีความยั่งยืนต่อไป

และอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงาน นั่นคือช่วง Environmental Education Talk ที่มีการร่วมพูดคุยกันระหว่าง ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Pro-gram (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ คุณคณิน แก้วอินทร์ ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกและของประเทศไทย บทบาทและแนวทางการแก้ไขปัญหาของแต่ละภาคส่วน การร่วมมือกันเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และอนาคตของสิ่งแวดล้อมศึกษาที่จะต้องสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ซึ่งนับว่าจุดประเด็นและได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในงาน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และอยากมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกไปด้วยกัน

โดยในงานได้  พีเค ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร มารับหน้าที่เป็นพิธีกร ซึ่งตัวพีเคเองนั้น นอกจากจะเคยได้รับหน้าที่เป็นผู้พากย์เสียง เฮอร์แมน ปูเสฉวนเพื่อนซี้ของเชลล์ดอน แล้วตัวเขาเองยังรู้สึกมีส่วนร่วมและตระหนักในเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยพีเคได้กล่าวเชิญชวนว่า  โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจ และน่าลงทะเบียนเรียนคอร์สนี้มาก ๆ เพราะเป็นการนำเอาเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเชลล์แลนด์ มาร้อยเรียงเป็นชุดความรู้ตามหลักวิชาการโดยคณาจารย์ และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและระดับโลก เพื่อให้ง่าย น่าสนใจและเข้าถึงคนทั่วไปได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการดูและรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต  โดยเผยแพร่ผ่านแพล็ตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ของจุฬาฯ หรือ CHULA MOOC ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันครั้งยิ่งใหญ่ในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยแถลงข่าวความร่วมมือกันไปเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

ผู้ที่สนใจสามารถเริ่มเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป #Shelldon3E #Shelldon #ShellhutEntertainment #TandBKids #จุฬา #CU #CUMOOC #MOOC #คอร์สเรียนฟรีจุฬา #เรียนแล้วได้ใบเซอร์ #MarinePollution