Falling Walls Lab เป็นการแข่งขันนำเสนอไอเดีย นวัตกรรม หรือรูปแบบธุรกิจ ภายในเวลา 3 นาทีด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจ ซึ่งผู้ชนะจากการแข่งขัน Falling Walls Lab ต่าง ๆ ทั่วโลกจะได้รับสิทธิเป็นหนึ่งใน 100 Finalist เดินทางไปนำเสนอผลงานที่การแข่งขันรอบสุดท้าย ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยจะได้รับการสนับสนุนทั้งในส่วนของค่าตั๋วเดินทางและที่พัก
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท, ปริญญาเอก, นักวิจัยหลังปริญญาเอก, อาจารย์หรือนักวิจัยรุ่นใหม่, หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องทำการนำเสนองานวิจัย, แผนธุรกิจ, หรือแนวคิดริเริ่มทางด้านสังคม เป็นภาษาอังกฤษ ภายในเวลา 3 นาทีเท่านั้น!
ผู้ที่สนใจสามารถสมัครภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ได้ทาง : https://falling-walls.com/lab/apply/thailand
งาน Falling Walls Lab Thailand 2023 จะจัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ณ Krungthai Innovation Lab กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนจาก Federal Foreign Office สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, Deutscher Akademischer Austauschdienst German Academic Exchange Service (DAAD), Embassy of the Federal Republic of Germany Bangkok, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, EURAXESS ASEAN แหล่งทุนสหภาพยุโรป, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เนื่องด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นผู้มีประสบการณ์การผ่านเข้ารอบเป็น Finalist สำหรับ Falling Walls Lab 2016 โดยเป็นตัวแทนจาก Falling Walls Lab Sendai ประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่กำลังทำงานเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโทโฮคุ จึงได้ขอนำคำสัมภาษณ์และคำแนะนำจากรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ มาประชาสัมพันธ์ด้วยดังนี้
ถาม: อาจารย์ณัฏฐ์นำเสนอผลงานเรื่องอะไร
ตอบ: ผมสมัครเข้าแข่งขัน Falling Walls Lab Sendai 2016 ขณะที่เป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ครับ ตอนนั้นได้นำเสนอผลงานวิจัยหัวข้อ “Breaking the Wall of Tsunami Evacuation” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของผม และเมื่อได้ผ่านเข้ารอบซึ่งเป็นจังหวะที่ผมได้เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโทโฮคุพอดีก็ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นไป Falling Walls Lab 2016 ที่กรุงเบอร์ลินครับ
ถาม: Falling Walls Lab มีความท้าทายอย่างไร
ตอบ: แน่นอนที่สุดคือเรื่องของ เวลา ครับ เรามีเวลาจำกัด 3 นาที ซึ่งจริง ๆ แล้วมีเวลานำเสนอเพียง 2 นาทีครึ่ง แล้วอีก 30 วินาทีเป็นช่วงเวลาถามตอบครับ ผมเชื่อว่าตรงส่วนการนำเสนอแต่ละคนมีวิธีนำเสนอที่แตกต่างกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้คือ การใช้คำเฉพาะทาง เพราะว่ากรรมการมาจากหลากหลายสาขาหากการนำเสนอของเรามุ่งอธิบายแต่เรื่องเทคนิคจะเป็นการยากที่จะทำให้กรรมการทุกท่านเข้าใจได้ รวมทั้งช่วงเวลา 30 วินาทีสุดท้ายค่อนข้างวัดใจ พอสมควรครับ เพราะว่าเราต้องรีบคิดและตอบทันทีด้วยเวลาที่จำกัด ถ้าเราตอบไม่ครบถ้วนทันเวลากรรมการก็อาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพยายามสื่อสารได้
ถาม: การเตรียมสไลด์เป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ: ด้วยเวลาที่จำกัดเราจึงต้องพยายามปรับข้อความ รูปภาพ และลำดับก่อนหลังให้ดีที่สุด การทำให้ผู้ชมโฟกัสตามจุดที่เรากำลังอธิบายอยู่ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ การเปลี่ยนสไลด์ที่เร็วเกินไปย่อมไม่เป็นผลดี
ถาม: ได้อะไรจากการเป็น Finalist บ้าง
ตอบ: เมื่อได้เป็น Finalist เราจะได้เป็นตัวแทนไปร่วมงานรอบสุดท้าย Falling Walls Lab ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีครับ ตัวงานนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การแข่งขันเท่านั้นแต่เรายังได้ฟัง Keynote จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทุกปี เรามีโอกาสได้เข้า Falling Walls Brain Dating Lounge คือการเลือกคนที่เราอยากเดท (ล้อเล่น) อยากแชร์ความคิดไอเดียล่วงหน้าผ่าน Application จาก Falling Walls ว่าเราอยากจะไปคุยแชร์ความคิดไอเดียกับใครบ้างในงานนี้แล้วระบบจะพยายามเลือกช่วงเวลาให้ทั้งคู่ได้มาจับเข่าคุยกัน ได้มีโอกาสทัศนศึกษาสถาบันวิจัยต่าง ๆ ของประเทศเยอรมนีแล้วแต่ที่เราสนใจ ได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายกับเพื่อน ๆ ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ
และผมก็มีโอกาสได้รับการสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนสายวิทยาศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส ช่อง Sciences et Avenir ด้วย รวมทั้งเมื่อกลับมาแล้วก็ยังมีโอกาสได้ออกสื่อต่าง ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกเช่นกัน ดีใจที่แม้เราจะไปในนามมหาวิทยาลัยโทโฮคุในเวลานั้นแต่ในการประกาศแนะนำก็มีคำว่า “THAILAND” ตามหลังชื่อ ดีใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศครับ
ถาม: อยากจะฝากอะไรถึงผู้ที่สนใจบ้าง
ตอบ: เมื่อโอกาสมาถึงประเทศไทยแล้วนับว่าเป็นสิ่งดี ๆ ที่นิสิตนักศึกษาและอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่จะได้ลอง Challenge ดูครับ ถือเป็นการพัฒนาทักษะการนำเสนอไปด้วยในตัว มันจะเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆกับโอกาสที่จะได้ไปเวทีระดับโลกแบบนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/FWLThailand
https://www.inter.chula.ac.th/news/14599/?fbclid=IwAR0eYT3lWNS3Y19Eisisdh-19NJAyXDUvM6c1dUupFG0iUTmcQZMTtWhofU