คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับ รศ. ดร.สมบูรณ์ รัศมี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ ในโอกาสที่ได้รับรางวัล Technology development award ประจำปี ค.ศ. 2023 จากสมาคมพลังงานปรมาณูของประเทศญี่ปุ่น (Atomic Energy Society of Japan, AESJ) ที่มหาวิทยาลัย Kindai University, Osaka ประเทศญี่ปุ่น

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับ รศ. ดร.สมบูรณ์ รัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ ดร.นรากานต์ คุณศรีเมฆ นักวิจัยหลังปริญญาเอกของภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ นายวศิน เวชกามา ศิษย์เก่าของภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ วิศวกรนิวเคลียร์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ดร.กัมปนาท ซิลวา นักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และ Prof. Takashi Hibiki ศาสตราภิชานกองทุนเพื่อการบริหารวิชาการและการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์และศาตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย City University of Hongkong ในโอกาสที่ได้รับรางวัล Technology development award ประจำปี ค.ศ. 2023 จากสมาคมพลังงานปรมาณูของประเทศญี่ปุ่น (Atomic Energy Society of Japan, AESJ) ที่มหาวิทยาลัย Kindai University, Osaka ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 27 มีนาคม 2567
.
งานที่ได้รับรางวัลเป็นการพัฒนาโปรแกรมการวิเคราะห์ผลกระทบจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ (Nuclear Accident Consequence Analysis Code, NACAC) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงานในประเทศ ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และหน่วยงานนอกประเทศ ได้แก่ City University of Hongkong เพื่อการใช้งานการวิเคราะห์ผลกระทบจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ต่อประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านหากเกิดขึ้นอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศอื่น ๆ โดยรอบ โดยสามารถคำนวณปริมาณรังสีที่แพร่กระจายในพื้นที่ต่าง ๆ รอบโรงไฟฟ้า ประเมินผลกระทบทางรังสีต่อสิ่งมีชีวิต เป็นการพัฒนาระดับ Source Code ซึ่งสามารถปรับแต่ง สมการ รูปแบบการคำนวณและการแสดงผลให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดปรับปรุงประสิทธิภาพการทำนายให้ดีมากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งไม่สามารถพบได้ในโปรแกรมลักษณะเดียวกันเชิงพาณิชย์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป นับเป็นความสำเร็จของประเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำนายและวิเคราะห์ผลกระทบหากเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขึ้น โดยผลการทำนายที่ได้สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการอุบัติเหตุ การเคลื่อนย้ายประชากรของประเทศ หากกรณีเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์