เพิ่มทางเลือกไฟฟ้าพลังงานสะอาด กฟผ. – วิศวฯ จุฬาฯ ผนึกกำลังศึกษาและพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หนุนตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน

กฟผ. ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality สร้างความมั่นคงทางพลังงานและสภาพแวดล้อมที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน

.
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. และ ผศ. ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี
.
นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมืออย่างยาวนาน ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ กฟผ. ด้านพลังงานนิวเคลียร์นี้ว่า กฟผ. ได้ศึกษาและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ผ่านโครงการอบรมหลายหลักสูตร ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด สอดคล้องกับเป้าหมายของ กฟผ. ที่จะนำองค์การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม ภายในปี ค.ศ. 2050 ผ่านการขับเคลื่อนองค์การภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ Sources Transformation จัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
.
ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯ มีความพร้อมสนับสนุนการวิจัยร่วมกับ กฟผ. ทั้งสถาบันวิจัยพลังงาน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพลังงานต่าง ๆ รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ ที่เปิดสอนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และมีการวิจัยระดับสูงที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ รองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดของประเทศ โดยพลังงานนิวเคลียร์นี้ นับเป็นพลังงานทางเลือกที่สามารถช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงาน และส่งเสริมให้ประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในอนาคต
.
ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีการออกแบบและพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง จึงเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการตอบสนองต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน