วิศวฯ จุฬาฯ จับมือประเทศญี่ปุ่น เสริมสมรรถภาพโครงสร้างพื้นฐานไทย พร้อมรับมอบระบบทดสอบความล้ามูลค่า 19 ล้าน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเสริมสมรรถภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย (The Project for Technology Development on Life Time Management of Road and Bridge for Strengthening Resilience in Thailand) ความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมทางหลวง และมหาวิทยาลัยวาเซดะ ญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และ Japan Science and Technology Agency (JST) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ณ ห้อง Auditorium TRUELAB อาคาร 3 คณะวิศวฯ จุฬาฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน จากนั้นนายพลเทพ เลิศวรวนิช ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง Mr. Ryoichi Kawabe, Senior Representative, JICA Thailand office กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการนี้ ภายในงานมีพิธีรับมอบระบบทดสอบความล้า มูลค่า 19 ล้าน สำหรับวัดความทนทานในการรับแรงกระแทกของวัสดุโครงสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้าง โดยมี Prof. Dr. Sato Yasuhiko, roject Investigator, Waseda University ศาสตราจารย์ ดร.เกษม ชูจารุกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวฯ จุฬาฯ รองศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ เพียรสุสม ผู้อำนวยการโครงการ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมในพิธีรับมอบ และมีการทดลองการใช้งานระบบทดสอบความล้าอีกด้วย

.


.
รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงโครงการ The Project for Technology Development on Life Time Management of Road and Bridge for Strengthening Resilience in Thailand ว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และ Japan Science and Technology Agency (JST) ซึ่งเป็นองค์กรหลักจากประเทศญี่ปุ่น มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและเสริมสมรรถภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย เพื่อเพิ่มความทนทานของโครงสร้างถนนและสะพานในประเทศให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 5 ปี (เมษายน 2565 – มีนาคม 2570) ภายใต้โครงการนี้ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น โครงการเสริมกำลังสะพานในบริเวณลาดพร้าวและบางวัว ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกรมทางหลวง นอกจากนี้ยังมีทุนสำหรับนิสิตและบุคลากรเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการส่งต่อเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ อีกด้วย
.
สำหรับระบบทดสอบความล้าของวัสดุ หรือเครื่อง Actuator มูลค่ากว่า 19 ล้านบาทนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยากล่าวว่า เครื่องนี้สามารถนำไปใช้ใช้ในการทดสอบความทนทานของวัสดุที่ต้องรับแรงกระแทกหรือน้ำหนักซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น คานคอนกรีต หมอนรองรถไฟ และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในงานโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องนี้ไม่เพียงแต่ใช้ในโครงการเท่านั้น แต่ยังสามารถให้บริการทดสอบวัสดุในทางวิชาการแก่หน่วยงานต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น กรมทางหลวงหรือบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ก็สามารถขอใช้บริการในการทดสอบวัสดุเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและความปลอดภัยในงานก่อสร้างได้
.
คณบดีคณะวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้กับนิสิต นักวิจัย รวมถึงกลุ่มผู้สนใจในด้านโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรม โดยเราได้จัดสรรทุนการศึกษาและโอกาสในการศึกษาต่อในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมและจัดกิจกรรมวิชาการที่เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง

 

เพิ่มเติม https://www.chula.ac.th/news/185208/