เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัด Water Dialogue on: “Water Engineering for Climate Adaptation and REsiliency (WECARE)” งานสำคัญต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย-เนเธอร์แลนด์ (G2G) ด้านความร่วมมือเกี่ยวกับน้ำ และ Letter of Intent (LOI) แสดงเจตจำนงความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย Deltares และสถาบันการศึกษาด้านน้ำนานาชาติ IHE-Delft TU-Delft ณ หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 420 ปี ระหว่างประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมชนม์ สถิระพจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย ในฐานะผู้แทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ Mrs. Miriam Otto รองเอกอัครราชทูตและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการเมือง สถานทูตเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้กล่าวเปิดงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมอย่างอบอุ่น
วัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่คาดหวัง การเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ:
1. ยกระดับขีดความสามารถ สร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขโจทย์น้ำของประเทศไทย จากความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ด้วยมาตรการอันมีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solutions: NbS) ร่วมกับมาตรการสำคัญอื่นๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
2. พัฒนาหลักสูตรความร่วมมือด้านวิศวกรรรมน้ำแบบสหวิทยาการรูปแบบใหม่ระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์ ผสานนวัตกรรมงานวิจัยอัจฉริยะ บ่มเพาะและผลิตวิศวกรน้ำแห่งอนาคต เพื่อ ตอบโจทย์น้ำแบบมุ่งเป้าแก่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เน้นการสร้างความยืดหยุ่น รองรับปรับตัวต่อการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
3. พัฒนาโครงการวิจัยนำร่องสนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นในบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ EEC และเขตอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอและแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างยั่งยืน
4. เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ของประเทศไทย
.
รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรา พฤทธิวิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวฯ จุฬาฯ ในฐานะผู้ดำเนินการหลักฝ่ายไทย ในการขับเคลื่อนโครงการความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สถาบันวิจัย Deltares-สถาบันการศึกษาด้านน้ำนานาชาติ IHE-Delft และ TU-Delft บรรยายในหัวข้อ “Water Engineering for Climate Adaptation and Resiliency: A Wake-Up Call” ได้กล่าวถึงหลักการ เหตุผล ความจำเป็น และเชิญชวนให้ผนึกกำลังร่วมกัน และลงมือทำทันที เพื่อรับมือความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำของโลกโดยตรง กอปรกับสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกขณะ อีกทั้งข้อมูลน้ำปริมาณ รูปแบบ การกระจายตัว และคุณภาพของน้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ในระยะยาวบ่งชี้ถึงความจำเป็นต้องยกระดับความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย บ่มเพาะและผลิตวิศวกรน้ำแห่งอนาคต โดยขับเคลื่อนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ผสานนวัตกรรมงานวิจัยอัจริยะ ตอบโจทย์น้ำแบบมุ่งเป้าแก่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เน้นการสร้างความยืดหยุ่น รองรับปรับตัวต่อการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน ประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์มุ่งหวังที่จะเป็นต้นแบบระดับโลกร่วมกำหนด สร้าง พัฒนา ตัวแบบการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนแห่งอนาคต
.
ผู้ร่วมเสวนาในงาน ประกอบด้วย 1. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ (ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อดีตเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน) “Water Engineering – Transdisciplinary to Transform the Future of Water Management in Thailand” 2. Mr. Tjitte Nauta (Deltares) “Roles of Applied Research Institute in Adaptive Planning of Water Management” 3. Dr. Chris Zevenbergen (IHE Delft) “Adaptive Planning for Urban Flood Risk Management” 4. นายณทศพล จันทร์ลอย (BMA) 5. คุณสรวงระวี ธนกาญจน์ (WEIS สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) 6. Mr. Hans van den Born (Water Cluster Coordinator, PIB) และ 7. Ms. Loulou Zaat (Young-Expert Nature-Inclusive Engineer, Netherlands) ร่วมสะท้อนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการจัดการน้ำแห่งอนาคต จากทั้ง 2 ประเทศ ในฐานะตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ตั้งแต่การให้ความสำคัญกับชุดข้อมูลน้ำขนาดใหญ่ (Big Data) การใช้เทคโนโลยี AI และ IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ มาตรการที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) การใช้แนวคิด Room for the River และการพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการน้ำเชิงปรับตัวที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และการบริหารจัดการ/ใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองที่มีขีดความสามารถรับมือความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคต การวางแผนระยะยาวสำหรับความเสี่ยงน้ำท่วมภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมศักยภาพในการรับมือต่อความเสี่ยงด้านน้ำ (น้ำท่วม/น้ำแล้ง) ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยมีบทสรุปแนวทางสำคัญของการรับมือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
1. พัฒนาความยืดหยุ่นของระบบน้ำ
2. การลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆยังคงมีควาจำเป็น ได้แก่ โครงข่ายส่ง-กระจายน้ำ รวมถึงแหล่งกักเก็บน้ำ
3. กระบวนการและรูปแบบ Soft Skills ในการลดความเปราะบางของทุกภาคส่วนด้วยระบบการให้ข้อมูล องค์ความรู้ สร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้ บ่มเพาะและผลิตวิศวกรน้ำแห่งอนาคตของประเทศไทย
4. ปฏิรูประบบบริหารจัดการน้ำ ทั้งในเชิงโครงสร้าง นโยบาย กฎหมาย และองค์กร เพื่อปิดช่องว่าง ตอบโจทย์น้ำแบบมุ่งเป้า เน้นแนวทางการสร้างความยืดหยุ่น รองรับปรับตัวต่อการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
5. ส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน